แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ให้จำคุกจำเลย 20 ปี ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ให้ยกคำร้อง หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด การที่จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 19 เมษายน 2550 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณากำหนดโทษจำเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) อีก จึงหาอาจทำได้ไม่ ทั้งกรณีไม่เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 20 ปี ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยยื่นคำร้องว่า มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย จึงขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2550 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยไม่เข้าลักษณะของการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้อง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแล้วได้ความว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 969 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 15.454 กรัม อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น โทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังจึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) มาใช้บังคับให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
จำเลยฎีกาคำสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ให้จำคุกจำเลย 20 ปี ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ให้ยกคำร้อง ในกรณีเช่นนี้หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุด ดังนี้ การที่จำเลยมายื่นคำร้องลงวันที่ 19 เมษายน 2550 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณากำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) อีกนั้น จึงหาอาจทำได้ไม่ ทั้งกรณีไม่เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยไม่เข้าลักษณะของการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยต่อมาว่า กรณีตามคำร้องของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) นั้น เป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 และไม่มีผลอันจะก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่วินิจฉัยเนื้อหาคำร้องของจำเลย ลงวันที่ 19 เมษายน 2550 และยกฎีกาจำเลย