แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และมาตรา 392 บัญญัติว่า การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 กล่าวคือให้นำมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับ ดังนี้โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ได้ เมื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ และค่าเสียหายเช่นนี้ศาลอาจกำหนดตามที่เห็นสมควรได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 การที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ดังกล่าวออกให้เช่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องขอให้ชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนครบตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา ตามข้อ 7 ข้างต้น หรือเจ้าของบอกเลิกสัญญานี้และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ตามข้อ 5 ของสัญญานี้ เงินทั้งปวงที่ผู้เช่าได้ชำระให้แก่เจ้าของก่อนหน้านั้นให้คงเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของ และผู้เช่าจะต้องจ่ายค่าซ่อมรถยนต์พร้อมทั้งค่าอุปกรณ์และอะไหล่ทั้งปวงเพื่อซ่อมรถยนต์ให้กลับคืนสู่สภาพดีตามที่เจ้าของประมาณราคาขึ้นโดยทันที และจะชดใช้ค่าเสื่อมราคาและค่าเสียหายนอกเหนือจากค่าเช่าซื้อทุกงวดที่ค้างชำระอยู่แล้ว ตลอดทั้งเงินจำนวนอื่นใดที่จะต้องจ่ายตามสัญญานี้ กับถ้าหากในขณะบอกเลิกการเช่านั้น ผู้เช่าได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อและรวมกับเงินชำระครั้งแรกรวมกันไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาเช่าซื้อที่ระบุในบัญชีรายการท้ายสัญญา ผู้เช่าซื้อจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่จ่ายเป็นค่าเช่าซื้อรวมทั้งเงินที่ชำระครั้งแรกแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของราคาเช่าซื้อที่ระบุในบัญชีรายการท้ายสัญญา”ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ใช้บังคับได้ โดยมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ และในกรณีฟ้องร้องเรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 190/30 มิใช่อายุความหกเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ในราคา 3,084,012 บาทตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็น 36 งวด งวดละเดือน เดือนละ 85,667บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 20 ตุลาคม 2533 งวดต่อ ๆไปทุกวันที่ 20 ของเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 2 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดที่ 3 ซึ่งจะต้องชำระภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2533 เป็นต้นมา โจทก์ทวงถามหลายครั้งแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2534 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ในสภาพที่ได้รับความเสียหายเมื่อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายได้เงินเพียง 1,760,000บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือ เงินตามสัญญาเช่าซื้อยังขาดอยู่อีก 1,152,678 บาท และการที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ต่อไป ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ดังกล่าวออกให้บุคคลภายนอกเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 85,667 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงเดือนละ59,966 บาท ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดถึงวันที่ยึดรถยนต์คืนมาเป็นเงิน 191,886 บาท และโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์คืนเป็นเงิน 5,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,349,564 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,349,564 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1.75 ต่อเดือน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์คิดคำนวณเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดตามสัญญาเช่าซื้อมาไม่ถูกต้องและเกินความจริงส่วนค่าขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ออกให้บุคคลภายนอกเช่าที่โจทก์เรียกมาเดือนละ 59,966 บาท นั้น โจทก์มิได้ประกอบกิจการในการให้เช่ารถยนต์ แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อจะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ก็ไม่อาจหาผู้ใดมาเช่ารถยนต์ของโจทก์ได้ หรือหากมีบุคคลใดมาเช่าก็ไม่อาจให้เช่าในราคาสูงถึงเดือนละ 59,966 บาท ตามที่โจทก์ขอมา ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน 5,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1เป็นผู้ขอเลิกสัญญาและส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์เองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ที่โจทก์เรียกเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อเดือน ของเงินค่าเสียหายนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1สิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญากัน และโจทก์ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีทั้งในขณะรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1ตกลงกันแล้วว่า จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือเงินใด ๆ จากจำเลยที่ 1 อีก โจทก์ได้รับเงินมามากพอแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดค่าปรับหรือเงินใด ๆ จากจำเลยที่ 1 อีก คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวเรื่องขายรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ทราบ หากทราบจำเลยที่ 2 จะเข้าสู้ราคา หากมีการขายทอดตลาดกันจริงต้องได้เงินไม่ต่ำกว่า 2,900,000 บาท รวมกับค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้ว 171,334บาท โจทก์จะได้รับเงินทั้งสิ้น 3,071,334 บาท คงเสียหายเพียง 12,678 บาท คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเมื่อเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน628,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 128,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 2 งวด งวดละ 85,667 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดที่ 3 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่20 ธันวาคม 2533 เป็นต้นมาเป็นเวลา 2 งวดติดต่อกัน โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว ต่อมาวันที่ 26มีนาคม 2534 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ และนำออกประมูลขายทอดตลาดได้ราคา 1,760,000 บาท โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2535
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2ว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องและขาดอายุความหรือไม่ ค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์เรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาขาดอายุความหรือไม่ สำหรับปัญหาว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องและขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และมาตรา 392 บัญญัติว่า การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 กล่าวคือให้นำมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ได้ตามคำฟ้องของโจทก์ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1ยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ ดังนี้ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ และค่าเสียหายเช่นนี้ศาลอาจกำหนดตามที่เห็นสมควรได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แต่อย่างใดการที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ดังกล่าวออกให้เช่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 มิใช่อายุความหกเดือน ปรากฎว่าคดีนี้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 ตามหนังสือขอให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.5และ จ.6 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2535คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาว่า ค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์เรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 4 ว่า การผิดสัญญาของจำเลยที่ 1ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 4.1 สัญญาเช่าซื้อกำหนดค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น 3,084,012 บาท หากจำเลยที่ 1 ปฎิบัติ ตามสัญญาจ่ายค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ถูกต้องครบถ้วน โจทก์จะต้องได้รับเงิน 3,084,012 บาท แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ แล้วนำออกประมูลขายได้เงินเพียง 1,760,000 บาทเมื่อรวมกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์แล้ว171,334 บาท รวมเป็นเงิน 1,931,334 บาท โจทก์จึงยังคงมีความเสียหายอยู่อีก 1,152,678 บาท เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องขอให้ชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนครบตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 8 ซึ่งกำหนดว่า”ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาตามข้อ 7 ข้างต้น หรือเจ้าของบอกเลิกสัญญานี้และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ตามข้อ 5ของสัญญานี้ เงินทั้งปวงที่ผู้เช่าได้ชำระให้แก่เจ้าของก่อนหน้านั้นให้คงเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของ และผู้เช่าจะต้องจ่ายค่าซ่อมรถยนต์พร้อมทั้งค่าอุปกรณ์และอะไหล่ทั้งปวงเพื่อซ่อมรถยนต์ให้กลับคืนสู่สภาพดีตามที่เจ้าของประมาณราคาขึ้นโดยทันที และจะชดใช้ค่าเสื่อมราคาและค่าเสียหายนอกเหนือจากค่าเช่าซื้อทุกงวดที่ค้างชำระอยู่แล้ว ตลอดทั้งเงินจำนวนอื่นใดที่จะต้องจ่ายตามสัญญานี้กับถ้าหากในขณะบอกเลิกการเช่านั้น ผู้เช่าได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อและรวมกับเงินชำระครั้งแรกรวมกันไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาเช่าซื้อที่ระบุในบัญชีรายการท้ายสัญญา ผู้เช่าซื้อจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่จ่ายเป็นค่าเช่าซื้อร่วมทั้งเงินที่ชำระครั้งแรกแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของราคาเช่าซื้อที่ระบุในบัญชีรายการท้ายสัญญา” ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ใช้ บังคับได้ โดยมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับและในกรณีฟ้องเรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 190/30 มิใช่อายุความหกเดือนได้ความว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2535 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ 628,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ และเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญามีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ สำหรับเบี้ยปรับนั้นหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ เนื่องจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นการคิดราคารวมกับค่าเช่า และการใช้รถยนต์จะต้องมีการเสื่อมราคา พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ 500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นเหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน628,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์