แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งให้โจทก์เป็นที่ปรึกษาทำการวิเคราะห์รวบรวมข้อมูล และเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเรื่องการประมูลก่อสร้างทางด่วนสายท่าเรือ-ดาวคะนอง เพื่อให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมูลได้และเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างทางด่วนดังกล่าวกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เช่นนั้น สัญญาดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ใช้อิทธิพลวิ่งเต้นหรือเข้าแทรกแซงในกิจการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเพื่อให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมูลได้และเข้าทำสัญญากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของราชการแต่อย่างใด จึงไม่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับกันได้โดยสมบูรณ์ และเมื่อจำเลยที่ 3ว่าจ้างโจทก์ทำการงานให้จำเลยที่ 3 แม้โจทก์กับจำเลยที่ 3มิได้ตกลงกันในเรื่องสินจ้างหรือค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกว่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายโดยแจ้งชัด ก็ถือได้ว่าได้มีสัญญาผูกพันจำเลยที่ 3 ที่จะต้องจ่ายสินจ้างให้แก่โจทก์เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างให้โจทก์ทำนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทำงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 เป็นผลสำเร็จ ทำให้จำเลยที่ 3 กับกิจการร่วมค้าได้ทำสัญญาก่อสร้างงานตามโครงการทางด่วนท่าเรือ-ดาวคะนอง ช่วงที่ 1 กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างให้แก่โจทก์เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่โจทก์ทำนั้น แต่เมื่อไม่มีข้อตกลงกันโดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 3 จะให้สินจ้างแก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใดก็จำเป็นที่จะต้องตีความสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย และศาลมีอำนาจกำหนดสินจ้างให้แก่โจทก์ได้ตามผลสำเร็จของงานโดยพิเคราะห์ความยากง่ายในการดำเนินการของการงานที่จำเลยที่ 3 จ้างให้โจทก์ทำประกอบด้วย และจำเลยที่ 3 ยังต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของสินจ้างที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายให้โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งอีกด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด โดยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยทั้งสามร่วมกันดำเนินกิจการรับเหมาก่อสร้างและอื่น ๆ ลงทุนและแบ่งผลกำไรกันเมื่อประมาณ 2526 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงมหาดไทยเปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างทางด่วนสายท่าเรือ-ดาวคะนอง โดยแยกประมูลเป็น 3 ช่วงตอน ช่วงที่ 1คือสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 2 คือถนนข้างสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพมหานคร ช่วงที่ 3 คือถนนข้างสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี จำเลยทั้งสามร่วมทุนกับบริษัทอื่นอีก 4 บริษัท เข้ายื่นซองประกวดราคาทั้งสามช่วงตอน โดยจำเลยทั้งสามมอบหมายให้จำเลยที่ 3ปรากฎชื่อในสัญญาร่วมทุนและในใบประกวดราคาในการยื่นซองประกวดราคา แม้จำเลยทั้งสามกับบริษัทร่วมทุนจะประมูลราคาต่ำ แต่การยื่นซองประกวดราคามีปัญหาต้องวิเคราะห์ และเจรจาในรายละเอียดต่อไป การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจึงจะทำสัญญาด้วยทั้งนี้จำเลยทั้งสามได้มอบหมายและเชิดนายเค มูรากามิผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการทั่วไปฝ่ายก่อสร้างและวิศวกรรมของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ติดต่อและมอบหมายให้โจทก์เป็นที่ปรึกษา ทำการวิเคราะห์ ให้คำปรึกษา คำชี้แจง ตลอดจนทำการเจรจาต่อรองกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อให้จำเลยทั้งสามกับบริษัทร่วมทุนได้รับอนุมัติให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางด่วนสายท่าเรือ-ดาวคะนองทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าจ้างเหมาพร้อมค่าวัสดุและแรงงานทั้งสิ้น 1,429,933,800 บาทโดยแยกเป็นช่วยที่ 1 สะพานแขวนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา924,307,800 บาท ช่วงที่ 2 ถนนข้างสะพานแขวนฝั่งกรุงเทพมหานคร มูลค่า 214,182,000 บาท ช่วงที่ 3 ถนนข้างสะพานแขวนฝั่งธนบุรี มูลค่าจ้างก่อสร้างซึ่งคิดได้เป็นเงิน 71,496,690 บาท โจทก์ได้ดำเนินการจัดการงานที่ว่าจ้างสำเร็จครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามกลับสละสิทธิการเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างในช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3เสียเอง โดยเข้าทำสัญญาเฉพาะช่วงที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 71,496,690 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงิน 8,462,357.77 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน 71,496,690บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่เคยแต่งตั้งโจทก์หรือมอบหมายหรือเชิดนายเค มูรากามิ เป็นผู้ติดต่อและมอบหมายให้โจทก์เป็นที่ปรึกษา ทำการวิเคราะห์ ให้คำปรึกษาคำชี้แจง ตลอดจนทำการเจรจาต่อรองกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่เคยตกลงให้ค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าบำเหน็จหรือค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 3 โจทก์อ้างว่างานที่กระทำไปเป็นความลับ ไม่อาจเปิดเผยได้ และแจ้งว่างานที่โจทก์กระทำไปนั้นได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองและเจ้าหน้าที่โดยตรงของโครงการ ค่าบำเหน็จหรือค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับนั้น ต้องแบ่งปันให้แก่พรรคการเมืองกับเจ้าหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอีก ดังนั้นงานที่โจทก์อ้างว่าได้กระทำจึงนอกเหนือไปจากงานที่นายเค มูรากามิ ได้มอบหมายให้ทำเงินค่าบำเหน็จหรือค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกร้องจึงเป็นเงินที่จะนำไปเพื่อใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยข้อแรกว่าจำเลยทั้งสามแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษา ทำการวิเคราะห์และเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เรื่อง การประมูลก่อสร้างทางด่วนสายท่าเรือ-ดาวคะนอง หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 แต่งตั้งโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษา ทำการวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูล และเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเรื่องการประมูลก่อสร้างทางด่วนสายท่าเรือ-ดาวคะนอง เพื่อให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมูลได้และเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างทางด่วนดังกล่าวกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 แต่งตั้งโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่งตั้งโจทก์ให้เป็นที่ปรึกษา ทำการวิเคราะห์ และเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ชำระค่าบำเหน็จและค่าตอบแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง
ส่วนประเด็นที่ว่า การทำงานของโจทก์เป็นผลสำเร็จให้จำเลยที่ 3 ได้รับงานก่อสร้างจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือไม่ จำเลยที่ 3 และสิทธิงานช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3หรือไม่ และจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด และจำเลยที่ 3 จะต้องจ่ายค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายแก่โจทก์เพียงใด ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย แต่เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้นำสืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียเอง โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ในประเด็นที่ว่าโจทก์ทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 เป็นผลสำเร็จ ทำให้จำเลยที่ 3กับบริษัทผู้ร่วมค้าอีก 4 บริษัท ซึ่งจดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้าได้ทำสัญญาก่อสร้างงานตามโครงการทางด่วนท่าเรือ-ดาวคะนองช่วงที่ 1 กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในราคา 924,579,000บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 สละสิทธิงานช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 สละสิทธิงานก่อสร้างช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3 ดังนี้ โจทก์จึงดำเนินการให้จำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาในช่วงทั้งสองดังกล่าวไม่สำเร็จ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องค่าตอบแทนหรือค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการติดต่องานดังกล่าวในช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3 แก่โจทก์
สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 3 ตกลงจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 3จะต้องรับผิดจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งให้โจทก์เป็นที่ปรึกษา ทำการวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูล และเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศเรื่องการประมูลก่อสร้างทางด่วนสายท่าเรือดาวคะนอง เพื่อให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมูลได้และเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างทางด่วนดังกล่าวกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เช่นกัน สัญญาดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ใช้อิทธิพลวิ่งเต้นหรือเข้าแทรกแซงในกิจการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเพื่อให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมูลได้และเข้าทำสัญญากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการแต่อย่างใด จึงไม่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับกันได้โดยสมบูรณ์ และเมื่อจำเลยที่ 3 ว่าจ้างโจทก์ทำการงานให้จำเลยที่ 3 แม้โจทก์กับจำเลยที่ 3 มิได้ตกลงกันในเรื่องสินจ้างหรือค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายโดยแจ้งชัด ก็ถือได้ว่าได้มีสัญญาผูกพันจำเลยที่ 3ที่จะต้องจ่ายสินจ้างให้แก่โจทก์เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างให้โจทก์ทำนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทำงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 เป็นผลสำเร็จ ทำให้จำเลยที่ 3 กับกิจการร่วมค้าได้ทำสัญญาก่อสร้างงานตามโครงการทางด่วนท่าเรือ-ดาวคะนอง ช่วงที่ 1กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในราคา 924,578,000 บาทจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างให้แก่โจทก์เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่โจทก์ทำนั้น แต่เมื่อไม่มีข้อตกลงกันโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 จะให้สินจ้างแก่โจทก์เป็นจำนวนใดก็จำเป็นที่จะต้องตีความสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 3 กับบริษัทผู้ร่วมค้าอีก 4 บริษัท ซึ่งจดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้าได้เข้าทำสัญญาก่อสร้างทางด่วนสายท่าเรือ-ดาวคะนอง ช่วงที่ 1กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในวงเงิน 924,579,000 บาท เพราะผลของการทำงานของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 จึงมีส่วนได้ในสัญญาดังกล่าวร่วมกับบริษัทผู้ร่วมค้าอีก 4 บริษัท ซึ่งจดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้าเพียงบริษัทละหนึ่งในห้า ซึ่งเมื่อได้พิเคราะห์ความยากง่ายในการดำเนินการของการงานที่จำเลยที่ 3 จ้างให้โจทก์ทำประกอบด้วยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าตอบแทนหรือสินจ้างที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,680,000 บาท และเมื่อปรากฎว่าโจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 15ตุลาคม 2528 ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าตอบแทนหรือสินจ้างให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลงในหนังสือนั้น โดยจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 26 ตุลาคม 2528 ตอบปฎิเสธข้อเรียกร้องตามหนังสือดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฎิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์และผิดนัดนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2528อันเป็นวันครบกำหนดที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ชำระสินจ้างให้แก่โจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของสินจ้างที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายให้โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อีกด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 3,680,000บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2