คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7100/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสามฉบับเป็นสินสมรสซึ่งผู้ตาย และจำเลยถือกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง การที่จำเลยถอนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนดและนำเงินที่ถอนได้ครึ่งหนึ่งไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการใช้เงินส่วนของจำเลย มิใช่ใช้ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยมิได้เบียดบังทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจำเริญ จิตต์กุศล ผู้ตายตามพินัยกรรมและตามคำสั่งศาลแพ่ง ลงวันที่ 8 กันยายน 2533 คดีหมายเลขแดงที่ 15065/2533 จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและเป็นผู้ครอบครองทรัพย์รายนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2533เวลากลางวัน จำเลยได้ถอนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด จำนวน 10,200,000 บาท และวันเดียวกันจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในนามจำเลยที่ธนาคารกสิกรไทยสาขาสำนักสีลม บัญชีเลขที่ 001-2-47406-7 ต่อมาระหว่างวันที่14 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2533 เวลากลางวัน จำเลยได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปรวม 4 ครั้ง คือวันที่ 14 สิงหาคม 2533 จำนวน 300,000 บาท วันที่ 5 พฤศจิกายน 2533จำนวน 900,000 บาท วันที่ 4 ธันวาคม 2533 จำนวน 5,000,000 บาท และวันที่ 11 ธันวาคม 2533 จำนวน 4,294,216.43 บาท รวมเป็นเงิน 10,494,216.43 บาท เป็นของตน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2533 เวลากลางวัน จำเลยได้ถอนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรืองทรัสต์จำกัด จำนวน 5,058,732.88 บาท ครั้นวันที่ 6 สิงหาคม 2533จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในนามของจำเลยที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาตลาดน้อยบัญชีเลขที่ 013-2-43845-4 ต่อมาระหว่างวันที่ 6 สิงหาคม 2533ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2533 เวลากลางวัน จำเลยได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปรวม 3 ครั้ง คือ วันที่ 6 สิงหาคม 2533จำนวน 300,000 บาท วันที่ 7 พฤศจิกายน 2533 จำนวน759,732.88 บาท และวันที่ 11 ธันวาคม 2533 จำนวน4,144,325.90 บาท รวมเป็นเงิน 5,204,058.78 บาท (รวมดอกเบี้ย) เป็นของตน การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังทรัพย์มรดกของผู้ตายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 และนับโทษจำเลยติดต่อกันทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสองสำนวน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นน้องชายนายจำเริญ จิตต์กุศล จำเลยเป็นภริยานายจำเริญโดยจดทะเบียนสมรสกันในปี 2505 นายจำเริญถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2533 โดยทำพินัยกรรมตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งทางศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจำเริญตามคำร้องขอของโจทก์ ก่อนศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจำเริญ จำเลยถอนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งระบุให้ผู้ตายหรือจำเลยเป็นผู้รับเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด จำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามเอกสารหมาย จ.71 และ จ.72 แล้ว จำเลยนำเงินต้นและดอกเบี้ยฝากกลับไปบริษัทดังกล่าวในนามของนายจำเริญหรือจำเลยครึ่งหนึ่ง ตามเอกสารหมาย จ.27 นอกจากนี้จำเลยได้ถอนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งระบุให้ผู้ตายและหรือจำเลยเป็นผู้รับเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ จำกัด จำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามเอกสารหมาย จ.39 แล้วจำเลยนำเงินต้นและดอกเบี้ยครึ่งหนึ่งฝากกลับเข้าไปกับบริษัทดังกล่าวในนามนายจำเริญและหรือจำเลยตามเอกสารหมาย จ.65ปัญหาตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ปัญหานี้เห็นว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสามฉบับตามคำฟ้องระบุให้ผู้ตายและหรือจำเลยเป็นผู้รับเงิน ตามเอกสารหมาย จ.71 และ จ.72และ จ.39 ออกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2533 (จำนวน 2 ฉบับ) และวันที่ 26 มิถุนายน 2533 แสดงว่าผู้ตายกับจำเลยได้ตั๋วสัญญาใช้เงินมาระหว่างสมรส ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสามฉบับจึงเป็นสินสมรสซึ่งผู้ตายและจำเลยถือกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง การที่จำเลยถอนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนด และนำเงินที่ถอนได้ครึ่งหนึ่งไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการใช้เงินส่วนของจำเลย มิใช่ใช้ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายจำเริญ การกระทำของจำเลยมิได้เป็นการเบียดบังทรัพย์มรดกของนายจำเริญตามคำฟ้อง”
พิพากษายืน

Share