คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่า โจทก์ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ฯลฯ ซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขาดงานเดิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ฯลฯ ที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์นั้นได้ระบุเหตุของการเลิกจ้างข้อ 2 ว่า ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา จำเลยให้การไว้ในข้อ 3 ว่า จำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง กล่าวคือ โจทก์ขาดงานเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกัน เป็นเวลาหลายครั้ง ศ.ผู้บังคับบัญชาได้เรียกโจทก์มาตักเตือนหลายครั้งแล้ว แต่โจทก์ไม่นำพาและให้การไว้ในข้อ 4 ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2536 เป็นเพราะโจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา โจทก์ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลานั้น เหตุที่จำเลยให้การว่าโจทก์ขาดงานก่อนวันที่ 1ถึงวันที่ 4 กันยายน 2536 นั้นเป็นการให้การถึงที่มาว่าโจทก์เคยขาดงานมาแล้ว และผู้บังคับบัญชาได้เรียกโจทก์มาตักเตือนหลายครั้ง แต่โจทก์ไม่นำพา ดังนี้ คำให้การจำเลยอ้างเหตุโจทก์ขาดงานเกิน 3 วัน โดยไม่แจ้งลารวมอยู่ด้วยแล้วและไม่ขัดต่อเหตุเลิกจ้างจึงก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่า โจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ฯลฯ ซึ่งไม่เป็นความจริงอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่10 กันยายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ฯลฯ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมตามคำให้การจำเลยได้แสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แม้จำเลยจะมิได้ระบุวันเดียวปีที่อ้างว่าโจทก์ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา แต่ก็เป็นการให้การแก้คดีที่สืบเนื่องมาจากคำฟ้องของโจทก์นั้นเอง ที่ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่4 กันยายน 2536 กับที่ศาลแรงงานหยิบยกประเด็นเรื่องใบลาเป็นลายลักษณ์อักษรมาเป็นข้อวินิจฉัยว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจึงไม่เป็นข้อวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2533จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ปล่อยข่าวว่าตนจะลาออกจากบริษัทจำเลยทำให้เกิดความสับสนในทีมงานขาย มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อบริษัทและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งไม่เป็นความจริงอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งของเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่บรรยายเกี่ยวกับเงินปันผล เงินโบนัส และเงินปันผลพิเศษว่าได้รับในอัตราเดือนละเท่าใดค่าเสียหายคิดจากเกณฑ์หรือฐานใดโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 8,000 บาท ส่วนเงินอื่นไม่ใช่ค่าจ้าง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขาดงานเกิน 3 วัน โดยไม่แจ้งลาปล่อยข่าวว่าตนจะลาออกจากบริษัททำให้สับสนในทีมงานขาย และโจทก์มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อบริษัทและเพื่อนร่วมงาน อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่าโจทก์ได้รับเงินได้ประจำค่าที่พัก เงินได้ปันผลเงินโบนัสตามตารางในเอกสารหมาย จ.1 โดยมีระเบียบเกี่ยวกับเงินได้ประจำ เงินได้ปันผล เงินโบนัส ตามเอกสารหมาย จ.3 กับเงินได้ประจำเดือนละ 9,000 บาทและค่าที่พักเดือนละ 2,500 บาท เป็นค่าจ้าง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ฯลฯ ซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาขาดงานเดิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ฯลฯตามสำเนาหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.3 ที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์นั้นได้ระบุเหตุของการเลิกจ้างข้อ 2ว่าขาดงานเกิน 3 วัน โดยไม่แจ้งลา จำเลยให้การไว้ในข้อ 3 ว่าจำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงกล่าวคือ โจทก์ขาดงานเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันเป็นเวลาหลายครั้ง นายศิริพงษ์ ตันสุวรรณ ผู้บังคับบัญชาได้เรียกโจทก์มาตักเตือนหลายครั้งแล้ว แต่โจทก์ไม่นำพาและให้การไว้ในข้อ 4 ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2536 เป็นเพราะโจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา โจทก์ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลาเห็นว่า เหตุที่จำเลยให้การว่าโจทก์ขาดงานก่อนวันที่1 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2536 นั้น เป็นการให้การถึงที่มาว่าโจทก์เคยขาดงานมาแล้ว และผู้บังคับบัญชาได้เรียกโจทก์มาตักเตือนหลายครั้ง แต่โจทก์ไม่นำพา ดังนี้ คำให้การจำเลยอ้างเหตุโจทก์ขาดงานเกิน 3 วัน โดยไม่แจ้งลารวมอยู่ด้วยแล้วและไม่ขัดต่อเหตุเลิกจ้างจึงก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำให้การจำเลยไม่ชัดแจ้งมิได้ระบุวันเดือนปีที่อ้างว่าโจทก์ขาดงานวันใดแน่นั้นโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่า โจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ฯลฯ ซึ่งไม่เป็นความจริงอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา ฯลฯ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เห็นว่าตามคำให้การจำเลยได้แสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แม้จำเลยจะมิได้ระบุวันเดือนปีที่อ้างว่าโจทก์ขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่แจ้งลา แต่ก็เป็นการให้การแก้คดีที่สืบเนื่องมาจากคำฟ้องของโจทก์นั้นเองที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2536 กับที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกประเด็นเรื่องใบลาเป็นลายลักษณ์อักษรมาเป็นข้อวินิจฉัยว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงไม่เป็นข้อวินิจฉัยนอกประเด็น ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยกรณีละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันหรือเกินกว่านั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควรและจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนั้นจึงชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่5026/2533 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2533ที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เงินโบนัสตามหลักเกณฑ์ในเอกสารหมาย จ.3เป็นค่าจ้างด้วย โจทก์จึงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ53,166 บาท จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share