แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกแบบรีเอ๊กซ์ปอร์ตต่อกรมศุลกากร จำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้เปิดตรวจสินค้าแล้วมีความเห็นว่าของที่โจทก์นำเข้าและขอส่งออกไม่ใช่ของรายเดียวกันจึงแจ้งข้อหาโจทก์ว่าสำแดงเท็จเพื่อขอคืนอากรและยึดผ้าไว้ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ในชั้นศุลกากร ได้มีการตรวจวิเคราะห์สินค้า ปรากฏว่าเป็นของรายเดียวกันจึงระงับคดีอาญาแก่โจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้ากลับออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่เป็นเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1กักยึดผ้าไว้เท่ากับเป็นการไม่อนุญาตให้โจทก์ส่งออกโจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินอากรขาเข้าจากจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ได้ การฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้ผู้ขอคืนเงินภาษีอากรได้รับการคืนเงินภาษีโดยชอบ เป็นคดีเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลภาษีอากร จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติงานไปตามขั้นตอนมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ แต่เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีความเห็นในตอนแรกว่า ผ้าที่โจทก์ขอส่งออกมิใช่ของรายเดียวกับที่นำเข้า เพราะตรวจพบว่ามีตราติดอยู่ที่เนื้อผ้า แต่ใบขนสินค้าขาเข้าระบุว่าไม่มีตราจึงมีเหตุอันควรสงสัยดังกล่าว ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1มีอำนาจกักยึดผ้าของโจทก์ไว้และสั่งดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 99 และ 60การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายตัวผ้าซึ่งอ้างว่าเสื่อมคุณภาพไม่สามารถนำมาใช้ได้และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งถือว่าไร้ประโยชน์ทั้งหมดค่าเสียหายเนื่องจากไม่สามารถส่งผ้ากลับออกไปตัดเย็บได้ทันกำหนด ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงขาดประโยชน์ทางการค้าของโจทก์สืบเนื่องมาจากการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 กักยึดผ้าของโจทก์ไว้ ตามคำฟ้องไม่ได้กล่าวอ้างว่าผ้าของโจทก์เสียหายเพราะจำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาไว้ไม่ดี เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่กักยึดผ้าไว้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในกระทรวงการคลังมีจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดีมีอำนาจกระทำการแทน และมีจำเลยที่ 3และที่ 4 เป็นลูกจ้างหรือพนักงานมีอำนาจหน้าที่พิจารณาคืนอากรให้แก่ผู้นำเข้า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2532 โจทก์ได้นำเข้าผ้าทอด้วยโพลีเอสเตอร์ชนิดใยยาวย้อมสีไม่ใช่เพื่อผิวสัมผัสเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 8 หีบห่อ 95 พับ ยาวรวม 4,648 หลา น้ำหนัก 451 กิโลกรัมโจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 062-33962 ตลอดจนเสียภาษีอากรขาเข้าครบถ้วนเป็นเงิน 150,034 บาท ต่อมาโจทก์ไม่สามารถตัดเย็บผ้าที่นำเข้าเป็นเสื้อสำเร็จรูปได้ทันเพราะปัญหาแรงงานการผลิตในประเทศไทย วันที่ 22 กันยายน 2532 โจทก์จึงขอส่งผ้าที่นำเข้ากลับออกไปยังเมืองฮ่องกงเพื่อส่งต่อไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ทำการตัดเย็บแทน และขอคืนเงินอากรได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกเลขที่ 1092/14966 แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมให้โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยอ้างว่าผ้าที่โจทก์ส่งออกมิใช่ของรายเดียวกันกับที่นำเข้า วันที่26 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 3 ในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 1ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าโจทก์สำแดงเท็จเพื่อขอคืนอากรจะเปรียบเทียบปรับโจทก์เป็นเงิน 443,190 บาท และให้ผ้าตกเป็นของแผ่นดิน ขอให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดี โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 3 ว่ากรณีของโจทก์ไม่เป็นความผิดและขอให้จำเลยตรวจพิสูจน์ผ้าที่ส่งออกกับที่นำเข้าจากตัวอย่างสินค้าที่แนบติดใบขนสินค้าขาเข้าและใบขนสินค้าขาออกว่าเป็นของรายเดียวกัน แต่จำเลยก็เพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหายเพราะหากโจทก์ส่งสินค้ากลับออกไปนอกราชอาณาจักร จำเลยที่ 1จะต้องคืนเงินอากรขาเข้าให้โจทก์ 149,034 บาท และจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 149,034 บาทนับแต่วันที่ 22 กันยายน 2532 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอส่งของกลับคืนไปนอกราชอาณาจักรจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,832 บาท รวมเป็นเงิน164,866 บาท และจำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมกันคืนผ้าที่โจทก์ขอส่งออกให้โจทก์ นอกจากนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่สั่งยึดผ้าไว้ในครอบครองเกือบ 2 ปี ทำให้บริษัทเชิ้ตเฮ้ามอนทรีออลจำกัด ประเทศแคนาดาเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เป็นเงิน780,000 บาท ได้แก่ค่าเสียหายตัวผ้าซึ่งเสื่อมคุณภาพไม่สามารถนำมาใช้ได้และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งถือว่าไร้ประโยชน์ทั้งหมดคิดเป็นราคาผ้า 166,285 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากไม่สามารถส่งผ้าออกไปตัดเย็บทางเมืองฮ่องกง สู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทันกำหนดเป็นเหตุให้บริษัทเชิ้ตเฮ้ามอนทรีออล จำกัด ขาดประโยชน์คิดเป็นเงิน613,742 บาท นอกจากนั้นโจทก์ยังต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในทางการค้าคิดเป็นเงิน 500,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,444,866 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,444,034 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 1092-14966 ขอส่งผ้าทอด้วยโพลีเอสเตอร์ชนิดใยยาวย้อมสีไม่ใช่เพื่อผิวสัมผัสจำนวน 8 หีบห่อ กลับคืนออกไปเมืองฮ่องกง และขอคืนอากรขาเข้าโดยอ้างว่าเป็นของรายเดียวกับที่นำเข้าในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 062-33962พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจสอบพบว่าสินค้าที่โจทก์ขอส่งออกเป็นผ้าที่มีตราคาเนโบที่ห่อผ้าและเนื้อผ้าทุกชิ้นไม่ตรงกับสินค้าที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้ากรณีจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขขอคืนเงินอากรขาเข้าได้ตามกฎหมายนอกจากนั้นการกระทำของโจทก์ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ฐานสำแดงเท็จเพื่อขอคืนอากรพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงปฏิเสธการขอส่งสินค้ากลับคืนออกไปนอกราชอาณาจักรและการขอคืนอากรขาเข้าของโจทก์เมื่อยังไม่มีการส่งสินค้าผ้ากลับคืนออกไปนอกราชอาณาจักรจำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนอากรขาเข้าให้โจทก์และไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ย โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นการฟ้องในมูลละเมิดไม่ใช่คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเป็นคดีเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 7 ศาลภาษีอากรกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์จำเลยทั้งสี่ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2532โจทก์ได้นำผ้าจำนวน 8 หีบห่อ 95 พับ ยาวรวม 4,648 หลาหนัก 451 กิโลกรัม เข้ามาในราชอาณาจักรชำระค่าภาษีอากรเป็นเงิน150,034 บาท ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2532 โจทก์ได้ขอส่งสินค้ารายเดียวกันทั้งหมดที่นำเข้ามาออกนอกราชอาณาจักรและขอคืนเงินอากรขาเข้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ตรวจพบว่าสินค้าผ้าที่โจทก์ขอส่งออกไปนอกราชอาณาจักรมีตราคาเนโบที่เนื้อผ้าไม่ตรงตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าและใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าจึงไม่อนุญาตให้โจทก์ส่งผ้ากลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่คืนเงินอากรขาเข้าให้ตามกฎหมาย ทั้งได้พิจารณาดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ฐานสำแดงเท็จเพื่อขอคืนอากร โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านและขอให้ตรวจวิเคราะห์สินค้า ผลการตรวจปรากฏเป็นผ้าทอด้วยโพลีเอสเตอร์ตรงตามตัวอย่างตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 6 และ 26 จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งคืนของกลางรายนี้และยกเลิกดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ แต่การขอคืนเงินอากรเกิน 1 ปี จึงไม่อนุญาตจ่ายคืนให้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่าผ้าที่โจทก์ขอส่งออกนอกราชอาณาจักรและนำเข้าในราชอาณาจักรเป็นของรายเดียวกันหรือไม่ ปัญหานี้ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 6 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ก็มีความเห็นว่าผ้าที่นำเข้าและส่งออกเป็นของรายเดียวกัน จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นอกจากนี้ตามหนังสือที่ กค 0607/13976 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2534ของจำเลยที่ 1 ถึงอัยการสูงสุดซึ่งทนายจำเลยทั้งสี่ส่งศาลมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งคืนของกลางรายนี้ให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ชอบที่จะไปดำเนินการขอรับของกลางรายนี้ได้โดยยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 โจทก์สามารถที่จะส่งของกลางรายนี้กลับออกไปต่างประเทศ แต่จะขอคืนอากรไม่ได้เนื่องจากการนำเข้าและส่งกลับออกไปต่างประเทศที่จะขอคืนอากรได้นั้นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 มาตรา 19 กล่าวคือต้องส่งกลับออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้า ซึ่งกรณีนี้เกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้าแล้วข้อความตามเอกสารของจำเลยดังกล่าวจึงเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ซึ่งมีนายวิเจย์ กุมาร เบิกความว่า ผ้าที่โจทก์นำเข้ายังอยู่ในหีบห่อตามสภาพเดิมทุกประการ โจทก์ได้ขอส่งออกตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 45 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผ้าที่โจทก์ขอส่งออกนอกราชอาณาจักรเป็นของรายเดียวกันกับที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1จะต้องคืนเงินภาษีอากรให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 บัญญัติว่า ของใดที่พิสูจน์เป็นที่พอใจ ว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว ถ้าส่งกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศให้คืนเงินอากรขาเข้าให้แก่ผู้นำเข้า ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้(ค) ของนั้นได้ส่งกลับออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้า และ (ง) ต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันส่งของนั้นกลับออกไป ได้ความว่า โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าแบบรีเอ๊กซ์ปอร์ต เลขที่ 1092-14966 ลงวันที่ 22 กันยายน2532 ต่อจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 45 จึงเป็นการยื่นภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าคือวันที่ 22 พฤษภาคม 2532แต่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้เปิดตรวจสินค้าแล้วมีความเห็นว่าของที่โจทก์นำเข้าและขอส่งออกไม่ใช่ของรายเดียวกัน จึงแจ้งข้อหาโจทก์ว่าสำแดงเท็จเพื่อขอคืนอากรและยึดผ้าไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 22-23, 37-39, 42โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ในชั้นศุลกากรได้มีการตรวจวิเคราะห์สินค้าที่โจทก์นำเข้าและส่งออกซึ่งผลการตรวจปรากฏว่าเป็นของรายเดียวกันจึงระงับคดีอาญาแก่โจทก์ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 5 เมษายน 2532เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 6 ดังนั้นการที่โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้ากลับออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี ได้นั้น จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่เป็นเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1กักยึดผ้าของโจทก์ไว้เท่ากับเป็นการไม่อนุญาตให้โจทก์ส่งออกโจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินอากรขาเข้าเป็นจำนวนเงินเก้าในสิบส่วนหรือส่วนที่เกิน 1,000 บาท ของจำนวนที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ปรากฏว่าจำนวนเงินที่เรียกเก็บไว้แล้ว150,034 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 56โจทก์จึงมีสิทธิรับคืน 149,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องได้ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งผ้ากลับออกไปยังเมืองต่างประเทศ กรณีไม่อาจที่จะสั่งคืนเงินอากรให้โจทก์ได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายต่อศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 7 บัญญัติว่า
“ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในเรื่องต่อไปนี้
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร”
ดังนั้นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้ผู้ขอคืนเงินภาษีอากรได้รับการคืนเงินภาษีโดยชอบย่อมเป็นคดีเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในมูลละเมิดตามฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่เพียงใด ปัญหานี้ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนเห็นว่า ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 57 ระบุในช่องชนิดของว่าไม่มีตรา(NO BRAND) และผ้าที่โจทก์ขอส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้า ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 45ก็ระบุว่าไม่มีตรา (NO BRAND) เช่นกัน แต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เปิดตรวจสินค้าพบว่ามีตราคาเนโบติดอยู่ที่เนื้อผ้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่ามิใช่ของรายเดียวกับที่นำเข้า จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรโดยเปรียบเทียบปรับและให้ยกของดังกล่าวให้เป็นของแผ่นดินต่อไป มิฉะนั้นจะส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อหาสำแดงเท็จเพื่อขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 99 และ 60 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ตามหนังสือลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2533 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 19โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 27 สิงหาคม 2533 ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 12 อุทธรณ์คำค้านคำสั่งดังกล่าว และขอให้มีการตรวจพิสูจน์ของว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นำเข้า ต่อมา จึงมีการตรวจพิสูจน์ตามที่โจทก์ขอและพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าผ้าที่นำเข้าและส่งออกเป็นของรายเดียวกัน จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ให้ยกเลิกการดำเนินคดีและคืนผ้าของกลางแก่โจทก์ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 5 เมษายน 2534 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 6 จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติงานไปตามขั้นตอน มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1มีความเห็นในตอนแรกว่า ผ้าที่โจทก์ขอส่งออกมิใช่ของรายเดียวกับที่นำเข้าก็เพราะตรวจพบว่า มีตราคาเนโบติดอยู่ที่เนื้อผ้าแต่ใบขนสินค้าขาเข้าระบุว่าไม่มีตราจึงมีเหตุอันควรสงสัยดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจกักยึดผ้าของโจทก์ไว้และสั่งดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 99 และ 60 การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ สำหรับประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ตัวผ้าซึ่งอ้างว่าขณะนี้เสื่อมคุณภาพไม่สามารถนำมาใช้ได้และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งถือว่าไร้ประโยชน์ทั้งหมดค่าเสียหายเนื่องจากไม่สามารถส่งผ้ากลับออกไปตัดเย็บได้ทันกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงขาดประโยชน์ทางการค้าของโจทก์นั้น ก็สืบเนื่องมาจากการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 กักยึดผ้าของโจทก์ไว้ ตามคำฟ้องไม่ได้กล่าวอ้างว่าผ้าของโจทก์เสียหายเพราะจำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาไว้ไม่ดี เมื่อวินิจฉัยมาแล้วว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่กักยึดผ้าไว้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินอากรขาเข้าให้โจทก์เป็นเงิน 149,034 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 15,832 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง