คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6715/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงถึงขึ้นไล่ออกหรือปลดออกจากงาน จำเลยได้ตั้งกรรมการสอบสวนการกระทำของโจทก์ ทางสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังว่า โจทก์กระทำผิดวินัยที่จะต้องถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากงาน แต่มีมลทินมัวหมอง และมีพฤติการณ์อันไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ หากจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ. 2517 ข้อ 34(3)และให้ถือว่าออกจากงานเพราะกระทำผิด ไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบตามข้อ 36 แห่งข้อบังคับฉบับเดียวกัน แต่เมื่อข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยระเบียบพนักงานเอกสารหมาย ล.7 ข้อ 36 มีข้อความว่า”พนักงานผู้ใดต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ 34ซึ่งไม่ใช่เป็นการออกจากตำแหน่งหน้าที่เพราะการกระทำผิดมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์และการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค”และข้อ 34 แห่งข้อบังคับฉบับเดียวกันมีข้อความว่า”การสั่งให้พนักงานผู้ใด พ้นจากตำแหน่งหน้าที่โดยการให้ออกให้พิจารณาโดยเหตุดังนี้”(3) มีข้อความว่า”พนักงานผู้นั้นต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและการสอบสวนไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่าได้กระทำผิดที่จะถูกไล่ออกหรือปลดออกแต่มีมลทินหรือมัวหมองหรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจซึ่งจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” ดังนี้ ผลการสอบสวนที่สรุปว่าจำเลยไม่มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาที่จะต้องมีโทษถูกไล่ออกหรือปลดออกจากงานแต่มีมลทินหรือมัวหมอง หรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจฯ ซึ่งต้องด้วยข้อบังคับฉบับดังกล่าวข้อ 34(3)นั้น ซึ่งตามเนื้อหาแล้วไม่ได้เป็นการระบุว่าโจทก์กระทำผิดวินัยในข้อใด แต่เป็นเรื่องที่ตามทางสอบสวนปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวนว่ามีเหตุสงสัยตามสมควรว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ในกรณีเช่นนี้แม้จำเลยจะอาศัยข้อบังคับฉบับดังกล่าวสั่งให้โจทก์ออกจากงานได้ก็ตาม แต่จะถือว่าโจทก์ออกจากตำแหน่งหน้าที่เพราะกระทำผิดยังไม่ได้ คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยให้ถือว่าได้กระทำผิดจึงเป็นเรื่องเกินเลยไปจากที่ข้อบังคับกำหนดไว้โจทก์ยังคงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบตามข้อ 36 แห่งข้อบังคับฉบับดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่ปี 2523เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัย แต่การสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ว่าโจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ยอมจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์และค่าชดเชยตามกฎหมายเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน239,210 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้เพราะก่อนที่จะเลิกจ้างจำเลยได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์กับพวกกรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำการทุจริตเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างฐานรากเสาข้ามแม่น้ำโดยใช้รถยนต์และคนงานของจำเลยเข้าดำเนินการโดยมิชอบเบิกจ่ายค่าแรงงานและค่าควบคุมงานเกินกว่าปริมาณการก่อสร้างจริง ผลการสอบสวนปรากฏว่าโจทก์เรียกร้องและรับเงินจากผู้ขอใช้ไฟฟ้าบริเวณที่ทำการก่อสร้างขยายเขตระบบจำหน่ายการไฟฟ้า จังหวัดกำแพงเพชร-คลองขลุงไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและกระทำการเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างรากฐานเสาข้ามแม่น้ำรวม 2 งานโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นบังหน้าและใช้รถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์และคนงานของจำเลยเข้าดำเนินการโดยมิชอบ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเป็นความผิดและเป็นการกระทำที่ถือว่ามีมลทินมัวหมองมีพฤติการณ์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจหากจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งที่วอ.4/2536 เลิกจ้างโจทก์โดยให้โจทก์ออกจากงานเพราะกระทำผิดจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยตามระเบียบและข้อบังคับจึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบเพราะตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ. 2517 กำหนดไว้ชัดแจ้งว่ากรณีของโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะยอดเงินตามฟ้องไม่ได้แยกว่าเป็นค่าชดเชยเท่าใด เงินค่ากองทุนสงเคราะห์เท่าใดคำนวณมาอย่างไร โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะการกระทำของโจทก์ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อีกทั้งฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)(2)(3) ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนทางวินัยและคำสั่งเลิกจ้างไม่ติดใจสืบพยานต่อไป
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามสำนวนการสอบสวนทางวินัยและคำสั่งเลิกจ้างว่าโจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างให้กับจำเลยโดยใช้ชื่อและทะเบียนการค้าของบุคคลอื่นแทนในการก่อสร้างฐานรากเสาข้ามแม่น้ำรวม 2 แห่ง คือบริเวณหมู่ที่ 14 บ้านแม่โทงตำบลบ่อคำ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชรและหมู่ที่ 6 บ้านใหม่เชียงราย ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอคลองขลุงจังหวัดกำแพงเพชร กับเป็นผู้รับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างดังกล่าวด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังได้นำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ในกิจการขนหินทราย ดังนี้ข้อที่โจทก์อ้างว่าการสอบสวนทางวินัยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ว่า โจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยนั้น เรื่องนี้คณะกรรมการสอบสวนวินัยเห็นว่าการกระทำของโจทก์แม้ไม่มีพยานหลักฐานฟังได้ว่าเป็นความผิดทางวินัยที่มีโทษถึงไล่ออกหรือปลดออก แต่การกระทำของโจทก์ยังคงมีมลทินมัวหมอง และมีพฤติการณ์อันไม่เป็นที่ไว้วางใจ หากให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ. 2517 ข้อ 34(3)จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุดังกล่าว การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยกลับมารับเหมางานของจำเลยเสียเอง จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้และตามระเบียบข้อบังคับข้อ 36 พนักงานผู้ใดพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ 34 โดยไม่กระทำผิดมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบ โจทก์ออกจากงานเพราะได้กระทำผิดตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ.2517 ข้อ 34(3)จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบ แต่เมื่อจำเลยเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ร้ายแรงถึงขั้นทุจริตต่อหน้าที่ และไม่ปรากฏว่าโจทก์จะทำให้จำเลยเสียหายอย่างไร จึงไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)(2)(3) ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ โจทก์ยังคงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ข้อ 46(3) พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จำนวน 75,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยระเบียบพนักงานเอกสารหมาย ล.7 ข้อ 36 มีข้อความว่า”พนักงานผู้ใดต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ 34 ซึ่งไม่ใช่เป็นการออกจากตำแหน่งหน้าที่เพราะการกระทำผิดมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ และการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” และข้อ 34 แห่งข้อบังคับฉบับเดียวกันมีข้อความว่า “การสั่งให้พนักงานผู้ใด พ้นจากตำแหน่งหน้าที่โดยการให้ออกให้พิจารณาโดยเหตุดังนี้”(3) มีข้อความว่า “พนักงานผู้นั้นต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและการสอบสวนไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่าได้กระทำผิดที่จะถูกไล่ออกหรือปลดออก แต่มีมลทินหรือมัวหมองหรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจ ซึ่งจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” ดังนี้ผลการสอบสวนที่สรุปว่า จำเลยไม่มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาที่จะต้องมีโทษถูกไล่ออกหรือปลดออกจากงาน แต่มีมลทินหรือมัวหมอง หรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจฯ ซึ่งต้องด้วยข้อบังคับฉบับดังกล่าวข้อ 34(3) นั้น ซึ่งตามเนื้อหาแล้วไม่ได้เป็นการระบุว่าโจทก์กระทำผิดวินัยในข้อใด แต่เป็นเรื่องที่ตามทางสอบสวนปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวนว่ามีเหตุสงสัยตามสมควรว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้แม้จำเลยจะอาศัยข้อบังคับฉบับดังกล่าวสั่งให้โจทก์ออกจากงานได้ก็ตาม แต่จะถือว่าโจทก์ออกจากตำแหน่งหน้าที่เพราะกระทำผิดยังไม่ได้ คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยให้ถือว่าได้กระทำผิด จึงเป็นเรื่องเกินเลยไปจากที่ข้อบังคับกำหนดไว้ โจทก์ยังคงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบตามข้อ 36 แห่งข้อบังคับฉบับดังกล่าว ได้ความว่าโจทก์ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่4 พฤษภาคม 2536 นับอายุงานได้ 13 ปี และโจทก์ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ 12,590 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทุนสงเคราะห์สมทบเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงาน เป็นเงิน 163,670 บาท ตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิถาค ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์และการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อ 14 เอกสารหมาย จ.8 คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินทุนสงเคราะห์สมทบแก่โจทก์เป็นเงิน 163,670 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share