คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5944/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง เป็นหนี้ที่จำเลยติดต่อกับผู้ร้องในทางธุรกิจโดยใช้ชื่อว่า ป. ตลอดมาผู้ร้องไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นแล้ว ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้ และถือว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอขยายระยะเวลาต่อศาลหลังจากสิ้นระยะเวลาแล้วได้ แต่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลาเสียภายในเวลาอันสมควรที่ผู้ร้องอาจยื่นได้หลังจากที่ทราบเรื่องจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วการที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หลังจากทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วเป็นเวลาหนึ่งเดือนเศษโดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ก่อนแล้ว จึงมาขอขยายระยะเวลาตามคำร้องนี้ ผู้ร้องย่อมไม่อาจขอขยายระยะเวลาได้

ย่อยาว

คดีนี้มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2536 และประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536 ครบกำหนดที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในวันที่ 9 เมษายน 2536 ครั้นวันที่ 7มิถุนายน 2536 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยได้เปลี่ยนชื่อจากนายประกิต ชูกิตติกุล เป็นนายชลัชช ชูกิตติกุล และถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดผู้ร้องเพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวจากคำแถลงของจำเลยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2536อันเป็นวันนัดพิจารณาคดีของศาลจังหวัดตากที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยขอให้ล้มละลายตามคดีหมายเลขดำที่ ล.1/2536ของศาลจังหวัดตาก จึงเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด ขอให้มีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า กรณีมีเหตุสมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคล และหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยมีต่อผู้ร้องปรากฏว่าเป็นหนี้ที่จำเลยติดต่อกับผู้ร้องในทางธุรกิจโดยใช้ชื่อว่านายประกิต ชูกิตติกุล ตลอดมาเมื่อผู้ร้องยื่นฟ้องจำเลยในชื่อนายประกิต เป็นคดีล้มละลายต่อศาลจังหวัดตาก โดยยื่นฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้แล้ว ปรากฏว่าจำเลยยอมรับหมายเรียกของศาลจังหวัดตากโดยมิได้โต้แย้งว่า จำเลยมิได้ชื่อนายประกิต กรณีเช่นนี้จึงเป็นการยากที่ผู้ร้องจะรู้ชื่อใหม่ของจำเลยได้ ดั้งนั้นคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ดี การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ดีที่ได้กระทำในชื่อของจำเลยว่า นายชลัชช ชูกิตติกุลแต่เพียงชื่อเดียว ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบได้ว่านายประกิตได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นแล้ว ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้ และถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอขยายระยะเวลาต่อศาลหลังจากสิ้นระยะเวลาแล้วได้ แต่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลาเสียภายในเวลาอันสมควรที่ผู้ร้องอาจยื่นได้หลังจากที่ทราบเรื่องจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ปัญหาจึงมีต่อไปว่า ผู้ร้องทราบเรื่องที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อใด ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องเองว่า ผู้ร้องทราบว่าจำเลยได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายชลัชชเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2536 ตามคำแถลงของจำเลยและจำเลยได้ยื่นส่งสำเนาหนังสือทะเบียน ชื่อตัว ชื่อรอง แบบ ช.3ในวันพิจารณาของศาลจังหวัดตากแล้ว ย่อมถือว่าผู้ร้องทราบเรื่องที่จำเลยได้เปลี่ยนชื่อจากนายประกิตเป็นนายชลัชชและจำเลยถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในชื่อนายชลัชช ตลอดจนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2536ซึ่งหากผู้ร้องมีข้อสงสัยผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้จากสำนวนคดีนี้หรือจากที่ว่าการอำเภอผู้ออกหนังสือสำคัญแบบ ช.3 ดังกล่าวภายในเวลาอันสมควร เพราะมีรายละเอียดชัดเจนจากคำแถลงของจำเลยและเอกสารอื่น ๆ กับต้นฉบับเอกสารการเปลี่ยนชื่อที่เก็บรักษาที่อำเภอ แต่ผู้ร้องกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการดังกล่าว การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หลังจากทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วเป็นเวลานานถึงหนึ่งเดือนเศษ โดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ก่อน แล้วจึงมาขอขยายระยะเวลาตามคำร้องนี้ ผู้ร้องย่อมไม่อาจขอขยายระยะเวลาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share