คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ช. ทำสัญญาประกันภัยรถแท็กซี่ไว้กับโจทก์ ต่อมารถแท็กซี่ซึ่ง น. ขับไปถูกรถยนต์ของจำเลยชน แม้ระหว่างเกิดเหตุ ช. จะโอนกรรมสิทธิ์รถแท็กซี่เพื่อเข้าร่วมกิจการกับสหกรณ์แล้ว แต่ขณะทำสัญญาประกันภัย ช.ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถแท็กซี่อยู่จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิที่จะทำสัญญาประกันภัยได้ เมื่อสัญญาประกันภัยมีผลบังคับได้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งใช้ค่าสินไหมทดแทนไปย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2527 โจทก์ได้รับประกันภัยรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 2ท-1902 กรุงเทพมหานครจากผู้เอาประกันภัย มีกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถจิ๊ปหมายเลขทะเบียน 9ค-0346 กรุงเทพมหานครระหว่างเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ครอบครอง โดยจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนซึ่งปฏิบัติในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายสุรินทร์กิตติกาญจนสกุล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน2528 เวลา 19.45 นาฬิกา ขณะที่นายนิกวง แซ่เตียว ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ได้ขับรถไปตามถนนมิตรไมตรีมีจำเลยที่ 1 ขับรถจิ๊ปคันดังกล่าวสวนทางมาด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนกับรถแท็กซี่ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์อย่างแรงได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำรถแท็กซี่ไปซ่อมและได้จ่ายค่าซ่อมไปเป็นเงิน 50,000 บาท กับเสียเงินเป็นค่าจ้างลากจูงรถแท็กซี่ไปเข้าอู่ซ่อมอีก 300 บาท รวมเป็นเงิน 50,300 บาท จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย2,520 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,820 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 52,820 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 50,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 50,300 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2528 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 50,300 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม2528 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2528 นายนิกวง แซ่เตียว ขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 2 ท-1902 กรุงเทพมหานคร ไปชนกับรถจิ๊ปหมายเลขทะเบียน9ค-0346 กรุงเทพมหานคร ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหกาญจนยนต์จำเลยที่ 3 ซึ่งมีนายเชาวลิต แซ่โล้ว จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที 3 เป็นผู้ขับขี่เป็นเหตุให้นายนิกวงได้รับอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้นายนิกวง 1,000 บาท และถูกร้อยตำรวจเอกประสิทธิ์ กัลยาณะธรรมเปรียบเทียบปรับข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้มีผู้รับอันตรายแก่กายเป็นเงิน 400 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 2ท-1902กรุงเทพมหานคร ไว้จากผู้เอาประกันภัย โดยมีกำหนดความรับผิด1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2527 ปรากฏตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้อง เมื่อรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน2ท-1902 กรุงเทพมหานคร ถูกชนได้รับความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำรถแท็กซี่คันดังกล่าวไปซ่อมแซมให้เรียบร้อยตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โดยรถแท็กซี่คันดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยตนเองไม่ได้ โจทก์ต้องจ้างรถยนต์คันอื่นมาลากจูงจากสถานีตำรวจนครบาลดินแดงไปไว้ที่อู่ซ่อม ค่าลากจูงเป็นเงิน 300 บาท และต้องจ่ายค่าซ่อมแซมรถอีกเป็นเงิน 50,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์จ่ายไปทั้งสิ้นเป็นเงิน 50,300 บาท ปรากฏตามสำเนาใบสั่งจ่ายและบิลเงินสดท้ายฟ้อง ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว แม้ว่าคำฟ้องของโจทก์จะไม่ได้บรรยายไว้โดยแจ้งชัดว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเพราะได้ชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยไปแล้วดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาก็ตาม แต่การที่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวไปย่อมทำให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยโดยผลของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่งจึงไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์เสียไป ส่วนเรื่องที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอย่างไรในรถแท็กซี่ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ก็ดี หรือรถแท็กซี่คันที่เกิดเหตุถูกทำละเมิดและเสียหายอย่างไรที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ก็ดีล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยที่ 3ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อสองว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 2ท-1902 กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดเหตุเพราะนายชาญชัย วัฒนาเรืองสกุล ผู้เอาประกันภัยได้โอนการเป็นเจ้าของรถให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถแท็กซี่คันดังกล่าวสัญญาประกันภัยใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้โจทก์ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของนายชาญชัยมาฟ้องจำเลยที่ 3ได้นั้น โจทก์มีนายชาญชัย วัฒนาเรืองสกุล ผู้เอาประกันภัยเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นเจ้าของรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน2ท-1902 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ มีกำหนด1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2527 ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 ต่อมารถแท็กซี่คันดังกล่าวได้เกิดเหตุชนกับรถจิ๊ปหมายเลขทะเบียน 9ค-0346 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 3ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาประกันภัย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้นำรถแท็กซี่คันดังกล่าวไปซ่อมที่อู่ชัยกิจเซอร์วิสตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.7 ถึง จ.12 เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัยมานำสืบ แต่โจทก์มีนายชาญชัยผู้เอาประกันภัยมาเบิกความยืนยันว่าเป็นเจ้าของรถแท็กซี่คันเกิดเหตุและได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ทั้งนายชาญชัยได้เบิกความยืนยันแล้วว่าต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ใช้แล้วจึงไม่ได้เก็บไว้ถือได้ว่าโจทก์นำสืบแล้วว่าต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัยสูญหาย โจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้ ศาลจึงรับฟังสำเนาเอกสารแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) จำเลยที่ 3นำสืบเจือสมพยานโจทก์ว่า หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้พบกับพนักงานของโจทก์และได้เจรจาค่าเสียหายกัน จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับประกันภัยรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่ารถแท็กซี่ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นรถยนต์คนละคันกับรถแท็กซี่คันเกิดเหตุเพราะเลขหมายเครื่องยนต์ไม่ตรงกันนั้น ปรากฏตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 ว่า รถยนต์ที่เอาประกันภัยมีเลขตัวถังหรือเครื่องยนต์ เคอี 70-9153448 4 เค-6380340/ ซึ่งตรงกับสำเนาทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย จ.3 และเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขอให้ศาลหมายเรียกจากแผนกทะเบียนรถยนต์ กองกำกับการ 3 กองทะเบียน กรมตำรวจซึ่งสำเนาทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวมีข้อความระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2528 ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เป็น 4 เค-0565297 รถแท็กซี่คันเกิดเหตุจึงเป็นคันเดียวกันกับรถแท็กซี่ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แม้ระหว่างเกิดเหตุนายชาญชัยจะโอนกรรมสิทธิ์รถแท็กซี่เพื่อเข้าร่วมกิจการกับสหกรณ์สหมิตรแท็กซี่จำกัด แต่ขณะที่นายชาญชัยทำสัญญาประกันภัยไว้กับโจทก์นั้น นายชาญชัยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถแท็กซี่คันดังกล่าวอยู่ นายชาญชัยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิที่จะทำสัญญาประกันภัยไว้ เมื่อสัญญาประกันภัยมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไป ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ชำระแทนผู้เอาประกันภัยไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share