คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3385/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ส. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มชื่อ ท. และ ม.ให้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินในส่วนของ ส. โดยไม่ได้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ จำเลยกลับกรอกข้อความเป็นว่าจำเลยมีอำนาจขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของส.ให้แก่จำเลย แล้วจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่จำเลยโจทก์นำคดีมาฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินที่จำเลยกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนแทน ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินคืนตามมาตรานี้เป็นทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สิน ซึ่งผู้ทรงสิทธิมีสิทธิติดตามทรัพย์สินของตนได้ตลอดเวลาที่ทรัพย์สินยังคงสภาพอยู่ มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นบุคคลสิทธิเป็นสิทธิเหนือบุคคลตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 เดิม คดีโจทก์จึงไม่มีกำหนดระยะเวลาฟ้องร้องหรืออายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นมารดานางสำเนียง รักเหลือนางสำเนียงจึงร้องขอต่อพนักงานอัยการให้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวที่ดินโฉนดเลขที่ 9432 เนื้อที่ 11 ไร่ นางสำเนียงถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางสมัคร นพคุณ คนละส่วนกัน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2501 จำเลยได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจของนางสำเนียงที่นางสำเนียงได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้มอบอำนาจในแบบหนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดินแต่ยังไม่ได้กรอกข้อความ โดยนางสำเนียงแจ้งให้จำเลยทราบว่ามอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มชื่อนางสะเทื้อน ชื่อพงษ์ และนางละมัย ชื่นพงษ์ในโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนของนางสำเนียง โดยให้จำเลยไปกรอกข้อความเองแต่จำเลยกลับนำไปกรอกข้อความเป็นว่าให้จำเลยมีอำนาจอำนาจจัดการทำสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนของนางสำเนียงแก่จำเลยในราคา 5,000 บาท ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของนางสำเนียงต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2501 จำเลยได้นำหนังสือมอบอำนาจไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลงเชื่อทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย ต่อมาต้นปี 2530 นางสำเนียงได้ตรวจสอบหลักฐานที่ดินพิพาทที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงได้ทราบการกระทำของจำเลยและได้บอกกล่าวให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนนางสำเนียง แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้พิพากษาว่านิติกรรมและการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางสำเนียงเป็นโมฆะให้จำเลยไปดำเนินการขอเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธินิติกรรมขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางสำเนียงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 10 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า นางสำเนียงลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มชื่อนางสะเทื้อนและนางลำมัยให้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยไม่ได้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ จำเลยกลับกรอกข้อความเป็นว่า จำเลยมีอำนาจขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของนางสำเนียงให้แก่จำเลย แล้วจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่จำเลย โจทก์นำคดีมาฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินที่จำเลยกระทำไปโดยปราศจากอำนาจซึ่งถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนแทนนางสำเนียง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินคืนตามมาตรานี้เป็นทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สิน ซึ่งผู้ทรงสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนได้ตลอดเวลาที่ทรัพย์สินยังคงสภาพอยู่ มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นบุคคลสิทธิเป็นสิทธิเหนือบุคคลตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 เดิม(มาตรา 193/9 ที่แก้ไขใหม่) คดีโจทก์จึงไม่มีกำหนดระยะเวลาฟ้องร้องหรืออายุความดังที่จำเลยกล่าวอ้างศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีอายุความชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share