แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยติดจำนอง แม้จะระบุรวมดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้วินิจฉัยหากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหนี้จำนองอย่างใดก็เป็นเรื่องจำเลยต้องว่ากล่าวกับเจ้าหนี้จำนองซึ่งไม่เกี่ยวกับการขายทอดตลาดประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ถึงกับเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขประกาศดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินยืมศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 185,000 บาท โดยผ่อนชำระรวม 3 งวด แต่จำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดที่ 4746 ของจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวโดยระบุว่า ที่ดินที่จะขายติดจำนองนายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ตามสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่28 พฤษภาคม 2524 ต้นเงินจำนอง 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ยอดหนี้จำนองคิดถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534เป็นเงิน 5,150,000 บาท ขายโดยการจำนองติดไป
จำเลยยื่นคำร้องว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายโดยจำนองติดไปและคิดดอกเบี้ย 10 ปี นั้นไม่ชอบ เพราะตามกฎหมายจะเรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปีไม่ได้ ดอกเบี้ย 5 ปีเป็นเงิน 1,500,000บาท เท่านั้น การขายโดยติดจำนองราคาสูงไปตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี จะทำให้ไม่มีใครสู้ราคา ทำให้จำเลยเสียหายขอให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขประกาศให้ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของจำเลยไม่เกี่ยวกับการบังคับคดีของโจทก์คดีนี้ ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยระบุว่าที่ดินติดจำนองของนายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ตามสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่28 พฤษภาคม 2524 ต้นเงินจำนอง 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ยอดหนี้จำนองคิดถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534เป็นเงิน 5,150,000 บาทนั้น เป็นการประกาศให้บุคคลทั่วไปทราบถึงภาระแห่งการรับผิดชอบก่อหนี้ในความเป็นจริงของที่ดินแต่ในทางกฎหมายที่ดินที่ติดจำนองแม้จะรวมดอกเบี้ยเกินกว่า5 ปีด้วยก็ตาม จะต้องรับภาระแห่งดอกเบี้ยของหนี้เป็นเวลานานเท่าใดนั้น มิใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเป็นผู้วินิจฉัย หากมีการบังคับจำนอง สิทธิตามกฎหมายที่ผู้รับจำนองจะพึงได้จากการบังคับจำนองมีเพียงใดก็ต้องเป็นไปตามนั้นประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีมิใช่การบังคับจำนองไม่อาจทำให้ผู้รับจำนองหรือจำเลยผู้จำนองได้หรือเสียสิทธิเกินไปกว่าที่มีอยู่ตามกฎหมายได้ ถึงแม้ผู้รับจำนองจะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญตามที่จำเลยฎีกาก็ตามโดยเฉพาะคดีนี้หากมีการขายทอดตลาดที่ดินไปตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้รับจำนองก็ไม่อาจจะมาใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ได้อยู่แล้วเนื่องจากเป็นการขายโดยจำนองติดไปกับที่ดิน ผู้ซื้อยังคงต้องรับภาระแห่งหนี้จำนองนั้นไปกับที่ดินด้วย หากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหนี้จำนองอย่างใดก็เป็นเรื่องที่จำเลยกับเจ้าหนี้จำนองต้องไปว่ากล่าวกันอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการขายทอดตลาดในคดีนี้แต่ประการใด แม้การระบุยอดหนี้ที่แท้จริงในประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี อาจทำให้ผู้เข้าประมูลเข้าใจผิดซึ่งเป็นการไม่สมควร แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยอาจทำความเข้าใจกับผู้เข้าประมูลเองก็ได้จำเลยหามีสิทธิจะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขประกาศขายทอดตลาดไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน