คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)บัญญัติเพียงแต่ให้อ้างบทมาตราซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดก็เพียงพอแล้วหาจำต้องระบุวรรคด้วยไม่เพราะการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดวรรคใดเป็นหน้าที่ของศาลปรับบทมาตราและวรรคให้ถูกต้องตามฟ้องและข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้กับจำเลยทั้งสี่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 447/2536 ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว ได้สมคบกันเป็นซ่องโจร โดยได้ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงนายหิ้นหม่อ แซ่แต่ ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะพาไปติดต่อขายที่ดิน แต่ความจริงแล้วจำเลยกับพวกมีเจตนาหลอกลวงให้ผู้เสียหายเข้าเล่นการพนันกับพวกของจำเลยเพื่อให้ได้ทรัพย์ อันเป็นสินพนันของผู้เสียหายเป็นการร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกง อันเป็นความผิดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 210
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 (ที่ถูกมาตรา 210 วรรคแรก) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะบรรยายฟ้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดโดยไม่ระบุวรรคให้ชัดเจนว่าวรรคใดทำให้จำเลยหลงต่อสู้และเสียเปรียบนั้น พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่าฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี (6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวเพียงแต่อ้างบทมาตราก็เพียงพอแล้วหาจำต้องระบุวรรคด้วยไม่ เพราะการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดวรรคใดเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทมาตราและวรรคให้ถูกต้องตามฟ้องและข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความและคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยอันเป็นความผิดตามวรรคแรกจำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษตามวรรคแรก จึงไม่เห็นมีเหตุอันใดที่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้และเสียเปรียบแต่อย่างใดเพราะฉะนั้นคำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share