คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 854/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีโดยเรียกค่าเสียหายทั้งหมดรวมกันมาเป็นจำนวน 247,600 บาท แม้ค่าเสียหายที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ ค่าเสื่อมราคาและค่าปลงศพ มีจำนวนรวม 37,600 บาท จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันซึ่งไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ทั้งสองเรียกรวมกันมาจำนวน 210,000 บาท เป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ทั้งสองสามารถฟ้องเรียกเฉพาะส่วนของตนโดยลำพังได้ ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสาม เมื่อปรากฏว่าค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์แต่ละคนมีจำนวนใกล้เคียงกัน และเมื่อแบ่งแยกค่าเสียหายส่วนนี้ของโจทก์ทั้งสองคนละครึ่งและนำไปรวมกับค่าเสียหายส่วนอื่นแล้ว ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนไม่เกินคนละสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสามในปัญหาว่าเหตุที่รถชนกันนั้นเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1หรือไม่และจำนวนค่าเสียหายมีเพียงใดซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ที่ 1 ได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ซึ่งศาลอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ ดังนี้ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 ด้วย ส่วนโจทก์ที่ 2แม้มิได้เป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวแต่ก็ต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาว. ผู้ตายในคดีอาญาดังกล่าว ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ด้วยเช่นกัน เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ร่วมอุทธรณ์ฝ่ายเดียวศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว และเมื่อคำพิพากษาอันถึงที่สุดดังกล่าวที่จำเลยทั้งสามอ้างอิงเป็นหลักฐานมาตั้งแต่ในชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกา เมื่อคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสองมิได้โต้แย้งว่าเอกสารท้ายฎีกาไม่ถูกต้องข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์โดยประมาทในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทจำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดาและมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิสุทธิ์ แซ่ตั้ง ผู้ตาย นายวิสุทธิ์ถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชน และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ทั้งนี้นายวิสุทธิ์ได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โจทก์ทั้งสองเสียค่ารักษาพยาบาลผู้ตายก่อนตายเป็นเงิน 600 บาท รถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 3,000 บาท และเสื่อมราคาไปอีก4,000 บาท ได้มีการจัดงานศพของผู้ตายเสียค่าใช้จ่ายไป โจทก์ทั้งสองขอคิดเพียง 30,000 บาท นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสองยังขาดไร้อุปการะจึงขอคิดในอัตราเดือนละ 2,500 บาท เป็นเวลา 7 ปี เป็นเงิน210,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 247,600 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวนนั้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า เหตุทีเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ตาย มิได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องร่วมกันรับติดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน247,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31กรกฎาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า เหตุที่รถชนกันนั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 และจำนวนค่าเสียหายมีเพียงใดนั้นเห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีโดยเรียกค่าเสียหายทั้งหมดรวมกันมาเป็นจำนวน247,600 บาท แม้ค่าเสียหายที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ ค่าเสื่อมราคาและค่าปลงศพ มีจำนวนรวม 37,600 บาทจะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ทั้งสองเรียกรวมกันมาจำนวน 210,000 บาท นั้น เป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ทั้งสองสามารถฟ้องเรียกเฉพาะส่วนของตนโดยลำพังได้ ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสามค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์แต่ละคนมีจำนวนใกล้เคียงกัน เมื่อแบ่งแยกค่าเสียหายส่วนนี้ของโจทก์ทั้งสองคนละครึ่งและนำไปรวมกับค่าเสียหายส่วนอื่นแล้ว ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนจึงไม่เกินคนละสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสามในปัญหาว่าเหตุที่รถชนกันนั้นเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำนวนค่าเสียหายมีเพียงใดซึ่งเป็นฎีกาเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4861/2532 ของศาลอาญา ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์และจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษา โดยโจทก์มิได้คัดค้านแต่ศาลอุทธรณ์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามไม่อาจยกขึ้นอ้างก่อนหน้านั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง จำเลยทั้งสามยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้เมื่อคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า”ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏในคดีนี้นั้น โจทก์ที่ 1 ได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9072/2530ของศาลอาญา ซึ่งศาลอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2แม้มิได้เป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวก็ต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดานายวิสุทธิ์ผู้ตายในคดีอาญาดังกล่าว ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ด้วยเช่นกัน คดีอาญาดังกล่าวศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5861/2532 โจทก์ที่ 1 (โจทก์ร่วม) อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารท้ายฎีกา คำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว (ชั้นอุทธรณ์)เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2534 ตามใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาถึงที่สุดที่จำเลยทั้งสามอ้างอิงเป็นหลักฐานมาตั้งแต่ในชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกา คำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสองมิได้โต้แย้งว่าเอกสารท้ายฎีกาไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์โดยประมาท ดังนั้น ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทตามบทกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้นเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ประมาทจำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share