คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บังคับคดีแก่ที่ดินจำนองของจำเลยออกขายทอดตลาด ได้เงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์บางส่วนเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2530 แล้ว แต่โจทก์เพิ่งร้องขอให้บังคับคดี แก่ทรัพย์สินของจำเลยเพิ่มเติมเพื่อบังคับชำระหนี้ตาม คำพิพากษาในส่วนที่เหลือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536จึงพ้นกำหนดระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2524ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยได้อีกต่อไป ปัญหาข้อโต้เถียงเกี่ยวกับสิทธิในการบังคับคดีว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดไว้หรือไม่อันเป็นระยะเวลาตามที่กฎหมายวิธีสารบัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจนำบทบัญญัติในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติมาใช้ปรับแก่กรณีได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2524 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 294,729.06 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 237,430.50 บาท นับแต่วันฟ้อง (23 มีนาคม 2524)จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ไม่พอชำระหนี้โจทก์ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้โจทก์จนครบ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ครั้งวันที่ 20 มกราคม 2527 โจทก์ได้ขอบังคับคดี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2530 เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 76962 ซึ่งเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1จำนองเป็นประกันหนี้เดิมไว้ ได้เงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์จำนวน 351,475 บาท คงเหลือหนี้ตามคำพิพากษาอยู่อีก 170,882.96 บาท ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 34073 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวร่วมอยู่กับนายบำเพ็ญ ชำนิบรรณการ อีก 1 แปลง และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นจำนองเป็นประกันหนี้อยู่แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์จึงยื่นคำร้องขอบังคับคดีเพิ่มเอาแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้ว มีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2524 การที่โจทก์ขอบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพิ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536 จึงพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เคยขอบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 และมีการขายทอดตลาดทรัพย์ได้เงินมาชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วนแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2530ก็ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เพราะเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเป็นเรื่องของอายุความฟ้องร้อง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องอายุความบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้แก่เรื่องนี้ไม่ได้ โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์โจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไปหรือไม่ เห็นว่า การร้องขอให้บังคับตามคำพิพากษานั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการด้วยการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีและแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ครบถ้วนภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 หากขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาแล้วได้เงินไม่คุ้มหนี้และโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีอีก โจทก์ก็จะแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหาได้ไม่ มิฉะนั้นจะมีผลให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกบังคับได้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายคดีนี้แม้โจทก์ได้บังคับคดีแก่ที่ดินจำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดได้เงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์บางส่วนเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2530 แล้วก็ตาม แต่โจทก์เพิ่งร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เหลือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536จึงพ้นกำหนดระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป และปัญหาในชั้นนี้เป็นข้อโต้เถียงเกี่ยวกับสิทธิในการบังคับคดีโดยตรงว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 กำหนดไว้หรือไม่ อันเป็นระยะเวลาตามที่กฎหมายวิธีสารบัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจนำบทบัญญัติในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติมาใช้ปรับแก่กรณีได้ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share