แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องโจทก์ยืนยันว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์มาแต่เดิมขอให้จำเลยจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้เป็นของโจทก์ตามสัญญา มิได้ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของจำเลย คดีจึงมีประเด็นแต่เพียงว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใดเท่านั้นไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ด้วย เพราะการครอบครองปรปักษ์จะเกิดมีขึ้นได้แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของจำเลย แม้โจทก์จะครอบครองมากว่า10 ปี ศาลก็จะพิพากษาให้เป็นของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เพราะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 โจทก์และจำเลยมีข้อพิพาทเกิดขึ้นต่อกัน โดยจำเลยขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดินรังวัดที่ดินรวมเอาที่พิพาทเข้าด้วยเพื่อแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินระหว่างเจ้าของรวม แต่โจทก์ไม่ยอมโดยได้ระวังชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์รวมไปถึงที่พิพาทตามที่ครอบครองมาด้วย จำเลยจึงได้ทำบันทึกข้อตกลงมีข้อความว่าที่ดินแปลงที่แบ่งแยกจากโฉนดเป็นแปลงที่ 7(ซึ่งหมายถึงที่พิพาท) แบ่งให้โจทก์ โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยดำเนินการรังวัดไปได้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 เจ้าของรวมเพียง 2 คน ทำบันทึกอันเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความว่าให้แบ่งที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรรมสิทธิ์รวมให้แก่โจทก์เป็นการจำหน่ายตัวทรัพย์สินของเจ้าของรวม เมื่อจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 5 ผู้เป็นเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ตกลงยินยอมในการให้ที่พิพาทแก่โจทก์ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 และในขณะที่ทำบันทึกที่พิพาทยังมิได้แบ่งแยกเป็นส่วนสัดของจำเลยที่ 2 และที่ 4 โจทก์จึงไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งห้าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงนั้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 1763 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1776 ที่ดินทั้งสองแปลงมีแนวเขตติดต่อกัน จำเลยทั้งห้านำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 1776 เพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน รังวัดได้เนื้อที่ขาดจากโฉนดไป 2 ไร่เศษ จึงได้มีการรังวัดใหม่โดยนำที่ดินส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครอง 2 ไร่เศษนั้นมารวมกับที่ดินที่รังวัดเดิม โดยจำเลยทั้งห้าให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานขอแก้ไขคำขอที่ขอแบ่งแยกจาก 5 แปลง เป็น 7 แปลง ที่ดินแปลงที่โจทก์ทั้งสองครอบครองนั้นแบ่งให้โจทก์ที่ 2 เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดแบ่งแยกให้ตามที่ขอ แต่แล้วจำเลยทั้งห้ากลับยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอยกเลิกการโอนให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยจดทะเบียนเป็นของจำเลยที่ 1 ได้โฉนดเลขที่ 9427 ซึ่งที่ดินส่วนนี้จะต้องเป็นของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาของจำเลยทั้งห้าโจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์เป็นเวลาหลายสิบปี ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9427 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ (สนามจันทร์)จังหวัดฉะเชิงเทรา ของจำเลยที่ 1 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญา หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน มิฉะนั้นให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าที่ดินเป็นเงิน 226,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยเข้าทำประโยชน์ที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่เศษ จำเลยทั้งห้านำชี้เขตเต็มตามโฉนดโดยรวมที่พิพาทด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 4ไปขอแก้ไขคำขอข้อตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ดังกล่าวจาก 5 แปลงเป็น 7 แปลง และแปลงที่ 7 คือที่พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยจำเลยอื่นไม่รู้เห็นยินยอมด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่พิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง แต่จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9427ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ (สนามจันทร์) จังหวัดฉะเชิงเทราหากไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน หรือมิฉะนั้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชดใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 226,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ชอบหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมิได้ตั้งรูปคดีมาว่าได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของจำเลยจนได้กรรมสิทธิ์แล้วแต่อย่างใด โดยโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า ที่ดินพื้นที่สีแดงภายในกรอบสีน้ำเงินนั้น โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ตามโฉนดเลขที่ 1763 ของโจทก์ และเป็นส่วนหนึ่งของที่พิพาทในคดีนี้โดยโจทก์ครอบครองทำประโยชน์มาหลายสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว จำเลยกับพวกจดทะเบียนที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาที่ให้ไว้ต่อโจทก์ คำขอท้ายฟ้อง โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 9427 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 และเรียกค่าเสียหายเท่านั้น โจทก์ทั้งสองมิได้ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองเลย ตามคำฟ้องดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองยืนยันว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองมาแต่เดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยทั้งสี่ คดีจึงมีประเด็นที่โต้เถียงกันแต่เพียงว่า ที่พิพาทเป็นของฝ่ายใดเท่านั้น ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ด้วย เพราะการครอบครองปรปักษ์จะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แม้โจทก์ทั้งสองจะครอบครองที่พิพาทมากว่า10 ปี ศาลก็จะพิพากษาให้ที่พิพาทเป็นของโจทก์ที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เพราะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองที่พิพาทมากว่า 10 ปี หรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จึงไม่ชอบ
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที 5 จะต้องโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ล.9 หรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า สาเหตุที่มีการทำบันทึกตามเอกสารหมาย ล.9 ว่าจะยกที่พิพาทให้โจทก์ที่ 2 เนื่องมาจากฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินของจำเลยทั้งห้าได้ระวังแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองรวมไปถึงที่พิพาทตามที่ครอบครองมาด้วย ทำให้จำเลยทั้งห้ารังวัดได้เนื้อที่ไม่เต็มตามโฉนดที่ดินโจทก์ทั้งสองมีนายปฏิภาณ สิวบุณย์ นายช่างรังวัด 5 สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราในระหว่างเกิดเหตุซึ่งได้รับคำสั่งให้ทำการรังวัดที่ดินของจำเลยทั้งห้า ในครั้งที่ 2 เบิกความว่าได้รับเรื่องรังวัดที่นายจีระศักดิ์ โตสวัสดิ์ ช่างรังวัดคนก่อนดำเนินการไว้มาดำเนินการต่อจากการรังวัดของนายจีระศักดิ์เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ชี้แนวเขตตามเส้นสีเขียวในแผนที่นายจีระศักดิ์รายงานว่าเป็นที่ดินรังวัดไปตามสภาพการครอบครองในขณะนั้น การรังวัดของนายจีระศักดิ์เจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าเนื้อที่ของที่ดินที่รังวัดมาน้อยกว่ารูปแผนที่หลังโฉนดอาจมีการสมยอมยกที่ดินให้แก่กันระหว่างฝ่ายโจทก์และจำเลย โดยหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราได้ปรึกษาหารือกับกรมที่ดิน กรมที่ดินมีความเห็นว่าหากฝ่ายเจ้าของที่ดินยอมรับเนื้อที่แนวเขตตามที่ได้ครอบครองอยู่ก็ให้ทำการรังวัดไป โดยรังวัดที่พิพาทรวมเข้าด้วยแล้วให้ฝ่ายจำเลยแบ่งแยกที่พิพาทให้ฝ่ายโจทก์ให้ถูกต้อง เรื่องจึงจะดำเนินการต่อไปได้ เจ้าพนักงานที่ดินอธิบายให้จำเลยที่ 2 และนายเทียบฟังตามที่กรมที่ดินแจ้งมาจำเลยที่ 2 และนายเทียบยินยอมตามที่แจ้ง เจ้าพนักงานที่ดินจึงสั่งให้นายปฏิภาณออกไปทำการรังวัด แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมให้รังวัดตามที่กรมที่ดินแนะนำ นายปฏิภาณชี้แจงให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจว่าตามระเบียบต้องดำเนินการตามที่กรมที่ดินแจ้งมา โจทก์ทั้งสองจึงยินยอม แต่ขอให้นายปฏิภาณทำบันทึกโดยฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกัน นายปฏิภาณจึงทำบันทึกตามเอกสารหมายล.9 ให้ ดังนี้เห็นว่า ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อพิพาทเกิดขึ้นต่อกัน โดยฝ่ายจำเลยจะรังวัดรวมเอาที่พิพาทเข้าด้วยเพื่อแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินระหว่างเจ้าของรวมแต่ฝ่ายโจทก์ไม่ยอม การทำบันทึกถ้อยคำตามเอกสารหมาย ล.9 เพื่อให้ฝ่ายจำเลยดำเนินการรังวัดไปได้ บันทึกถ้อยคำตามเอกสารหมาย ล.9 จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.9 มีข้อความว่าที่ดินแปลงที่แบ่งแยกจากโฉนดเลขที่ 1776 เป็นแปลงที่ 7 (ซึ่งหมายถึงที่พิพาท) แบ่งให้โจทก์ที่ 2 แต่ปรากฏว่าผู้ลงชื่อในบันทึกเอกสารหมาย ล.9 คือจำเลยที่ 2 ที่ 4 และนายเทียบ โดยนายเทียบเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 5 ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.6, ล.14 และ ล.13ตามลำดับ เมื่อพิจารณาข้อความตามหนังสือมอบอำนาจทั้งสามฉบับดังกล่าวต่างก็มีข้อความว่ามอบให้นายเทียบ ลิ่มเชยมีอำนาจจัดการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 1776 หากการรังวัดปรากฏว่ารูปแผนที่หรือเนื้อที่เปลี่ยนแปลงยินยอมให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตลอดจนรับโฉนดแบ่งแยกและยินยอมให้ผู้รับมอบอำนาจทำนิติกรรมให้กับผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่นได้เท่านั้น โดยหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความว่าให้นายเทียบยกที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายเทียบซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินทำบันทึกให้ที่พิพาทแก่โจทก์ที่ 2 ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.9 จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ เท่ากับจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 5 ผู้เป็นเจ้าของรวมในที่ดินไม่ได้ตกลงให้ที่พิพาทแก่โจทก์ที่ 2 ตามบันทึกดังกล่าว เมื่อที่พิพาทเป็นที่ดินในโฉนดที่ 1776 ซึ่งจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันการที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 เจ้าของรวมเพียง 2 คน ทำบันทึกเอกสารหมาย ล.9 ให้แบ่งที่พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นการจำหน่ายตัวทรัพย์สินของเจ้าของรวม เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5ผู้เป็นเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ตกลงยินยอมในการให้ที่พิพาทแก่โจทก์ที่ 2 ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 5 ในขณะที่ทำบันทึกที่พิพาทมีจำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของร่วมกันอยู่ ยังมิได้แบ่งแยกเป็นสัดส่วนของจำเลยที่ 2และที่ 4 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งห้าโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.9ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม