คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีน 7,000 เม็ด น้ำหนัก 644.30 กรัมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 143.67 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตแม้จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการทหาร ซึ่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่เมื่อมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจวางโทษเป็นสามเท่าได้อีก ทั้งไม่อาจนำมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับด้วยได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม),66 วรรคสอง (เดิม) เท่านั้นซึ่งคงวางโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียงจำคุกตลอดชีวิต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดโรงเรียนการบินทหารบก จังหวัดลพบุรีร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 7,000 เม็ดน้ำหนัก 644.30 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 143.67 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปจำนวน2,000 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด ในราคา 80,000 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจำนวน80,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่อง ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 3, 10, 12 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางและเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 90 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีกำหนด 30 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 135 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 45 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 45 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 67 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 22 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 112 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 37 ปี 6 เดือน แต่คงจำคุกจำเลยที่ 1 ได้เพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 01 – 8514844 ของกลางกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ด้วย) จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน มีกำหนด 50 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีกำหนด 50 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้จำคุก 25 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี รวมจำคุก 50 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดโรงเรียนการบินทหารบกจังหวัดลพบุรีร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 7,000 เม็ด น้ำหนัก 644.30 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 143.67 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการทหาร ซึ่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจวางโทษเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้อีก ทั้งไม่อาจนำมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับด้วยได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) เท่านั้น ซึ่งคงวางโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีกำหนด50 ปี และศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าว มีกำหนด45 ปีนั้น ไม่ต้องตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) โดยลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้จึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 สำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา80,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด กรณีต้องด้วยบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่งแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2545 มาตรา 19 ที่ยกเลิกความในมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ แตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิม โทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษสำหรับจำเลยทั้งสองเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่),วรรคสอง (เดิม) ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก15 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 จึงวางโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 45 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้แก่จำเลยทั้งสองกึ่งหนึ่ง ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 22 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมกับโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุกจำเลยที่ 1ไว้มีกำหนด 47 ปี 6 เดือน และสำหรับจำเลยที่ 2 รวมโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือนในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 29 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share