คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6190/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปรากฏตามคำฟ้องว่า ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องมาก่อนวันที่โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.6 แสดงว่าโจทก์จำเลยตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและมีอยู่ก่อนวันทำเอกสารหมาย ล.6 ให้ถือตามข้อความที่ตกลงกันไว้ในเอกสารฉบับดังกล่าว โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยและเงินช่วยเหลืออื่นให้แก่โจทก์จำนวน41,072.75 บาท และโจทก์ตกลงว่าจะไม่เรียกร้องประโยชน์หรือสิทธิอื่นใดจากจำเลยอีก เช่นนี้ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.6จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับเงินใด ๆ ที่มีข้อพิพาทอยู่ก่อนวันวันทำข้อตกลงดังกล่าวเป็นอันระงับไปโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.6 ตามมาตรา 852 โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นสิทธิที่ระงับไปแล้วตามกฎหมายขึ้นมาฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดอีกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ตำแหน่งสุดท้ายโจทก์เป็นหัวหน้าแผนกเตรียมผลิต ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,335 บาท พร้อมค่าประจำตำแหน่งเดือนละ 500 บาท และเงินค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือนทุกเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่25 กุมภาพันธ์ 2536 โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนำเงินประจำตำแหน่งและค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าจ้างมารวมคำนวณ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยที่ยังขาดอยู่ 5,400 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ยังขาดอยู่ 900 บาท รวมเป็นเงิน 6,300 บาทจ่ายค่าเสียหาย 20,580 บาท หรือให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของยอดเงินจำนวน 208,880 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กับให้จำเลยออกใบรับรองการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และประพฤติตนในลักษณะไม่เหมาะสม จึงมีเหตุอันควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ ในส่วนเงินค่าตำแหน่งและค่าครองชีพที่โจทก์เรียกร้อง 6,300 บาท นั้นมีระเบียบกฎเกณฑ์ให้ไม่นำไปรวมกับค่าจ้างปกติ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของค่าจ้าง โจทก์ตกลงรับเงินค่าช่วยเหลือ ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินจำนวน 41,072.75 บาท โดยโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องประโยชน์หรือสิทธิอื่นใดจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่25 กุมภาพันธ์ 2536 ตามหนังสือเลิกจ้างตามเอกสารหมาย ล.3ตำแหน่งสุดท้ายโจทก์เป็นหัวหน้าแผนกเตรียมผลิตได้รับเงินเดือนเดือนละ 6,335 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท ค่าตำแหน่งหัวหน้าเดือนละ 500 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 7,235 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน เมื่อเลิกจ้างแล้วโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยรับเงินค่าช่วยเหลือ ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยเป็นเงิน 41,072.75 บาท โดยไม่ติดใจเรียกร้องประโยชน์หรือสิทธิใด ๆ จากจำเลยอีก ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมายล.6 โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่อ้างว่าจำเลยไม่นำเงินประจำตำแหน่งและเงินค่าครองชีพมารวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน6,300 บาท ได้ จำเลยไม่จำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์เพราะลดการผลิตลงเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน สาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีข้อบกพร่องในด้านความประพฤติและมรรยาทต่อผู้บังคับบัญชาตลอดจนความเกี่ยวพันที่มีอยู่กับสหภาพแรงงานในบริษัทจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไม่ได้จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.6 ทำขึ้นมุ่งที่จะระงับข้อพิพาทเฉพาะในส่วนค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงค่าเสียหายในการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ในส่วนของค่าเสียหายในการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 45,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (7 เมษายน 2536)จนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ยินยอมรับเงินค่าชดเชยและเงินค่าช่วยเหลืออื่น ๆ ไปแล้วจำนวน 41,072.75 บาท และไม่ติดใจเรียกร้องประโยชน์หรือสิทธิอื่นใดจากจำเลยอีก ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.6 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์อีก พิเคราะห์แล้ว เอกสารหมาย ล.6 มีข้อความว่า “ตามที่บริษัทเซ็นทรัลแอร์ คอนดิชั่นนิ่ง อินดัสเตรียลจำกัดได้เลิกจ้างข้าพเจ้า นายวิเชียร ชื่นเอี่ยม เมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2536 นั้น ข้าพเจ้าได้รับเงินค่าชดเชยและเงินช่วยเหลืออื่น ๆ จากบริษัทเป็นเงินจำนวน 41,072.75 บาท(สี่หมื่นหนึ่งพันเจ็ดสิบสองบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์) ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าไม่ติดใจเรียกร้องประโยชน์ หรือสิทธิอื่นใดจากบริษัทอีก” ปรากฏตามคำฟ้องว่า ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องมาก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ข้อตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและมีอยู่ก่อนวันที่ทำเอกสารหมาย ล.6 ให้ถือตามข้อความที่ตกลงกันไว้ในเอกสารฉบับดังกล่าว โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยและเงินช่วยเหลืออื่นให้แก่โจทก์จำนวน 41,072.75 บาท และโจทก์ตกลงว่าจะไม่เรียกร้องประโยชน์หรือสิทธิอื่นใดจากจำเลยอีก เช่นนี้ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.6 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับเงินใด ๆ ที่มีข้อพิพาทอยู่ก่อนวันทำข้อตกลงดังกล่าวเป็นอันระงับไปโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.6 ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 852 โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นสิทธิที่ระงับไปแล้วตามกฎหมายขึ้นมาฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดอีกได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพราะการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share