คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4967/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การอ้างว่าได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้วเป็นการอ้างว่าได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 การที่ศาลชั้นต้นกำหนด ประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทหรือไม่ จึงแปลได้ว่า ถ้าหากการครอบครองที่พิพาทของจำเลยยังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้ กรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ยังเป็นเจ้าของที่พิพาทอยู่ แต่ถ้าหากการครอบครอง ที่พิพาทของจำเลยเข้าเกณฑ์ได้กรรมสิทธิ์โจทก์ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ ที่พิพาทอีกต่อไป ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 ผลก็คือโจทก์ไม่ได้ เป็นเจ้าของที่พิพาทอีกต่อไปแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัย ตามประเด็นข้อพิพาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 เพียงแต่ให้สิทธิแก่ผู้ชำระหนี้ในอันที่จะเรียกร้องให้ผู้รับชำระหนี้ออกใบเสร็จให้เท่านั้น ไม่ได้เป็นบทบังคับ ประกอบกับคดีมีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าการชำระหนี้ในเรื่องดังกล่าวนี้จะต้องมีใบเสร็จมาแสดงดังนี้แม้จำเลยจะไม่มีใบเสร็จมาแสดง จำเลยก็ย่อมมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบถึงการชำระหนี้ดังกล่าวนี้ได้เพราะไม่มี กฎหมายบัญญัติห้ามไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4839จำเลยอาศัยปลูกบ้านเลขที่ 30 บนที่ดินดังกล่าวเป็นเนื้อที่ประมาณ 80 ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าเดือนละ 500 บาท ก่อนวันฟ้อง โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน1,000 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลย พร้อมด้วยบริวารขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 30 ดังกล่าวออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4839 ของโจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อ ถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อปี 2518 โจทก์จัดสรรที่ดินขายรวมทั้งที่พิพาทตามฟ้อง จำเลยได้เช่าซื้อที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเต็มเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวาติดต่อกันตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 14 ปีเศษ ด้วยความสงบและเปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของระหว่างการครอบครอง ไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิของจำเลยในที่ดินดังกล่าวจำเลยติดต่อโจทก์ให้โอนทะเบียนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย แต่โจทก์อ้างว่าเจ้าของที่ดินเดิมมิได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทวงถามหลายครั้งแต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เฉพาะข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษานอกประเด็นหรือไม่ และผู้ชำระหนี้จะนำพยานบุคคลมาสืบถึงการชำระหนี้หากไม่มีใบเสร็จมาแสดงได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วสำหรับปัญหาแรก โจทก์ฎีกาว่าศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นไว้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทหรือไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งว่าได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษานอกประเด็นข้อพิพาทนั้น เห็นว่าจำเลยให้การอ้างว่าได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้วเป็นการอ้างว่าได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทหรือไม่ จึงแปลได้ว่าถ้าหากการครอบครองที่พิพาทของจำเลยยังไม่เข้าเกณฑ์จะได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ยังเป็นเจ้าของที่พิพาทอยู่แต่ถ้าหากการครอบครองที่พิพาทของจำเลยเข้าเกณฑ์ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของที่พิพาทอีกต่อไปดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ผลก็คือโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่พิพาทอีกต่อไปแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาท ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาหลัง โจทก์ฎีกาเป็นทำนองว่าบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 มีเจตนารมณ์ให้ผู้ชำระหนี้มีหน้าที่ต้องขอใบเสร็จจากผู้รับชำระหนี้ หากไม่มีใบเสร็จมาแสดงผู้ชำระหนี้จะนำพยานบุคคลมาสืบว่าได้ชำระหนี้แล้วหาได้ไม่ เห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงแต่ให้สิทธิแก่ผู้ชำระหนี้ในอันที่จะเรียกร้องให้ผู้ชำระหนี้ออกใบเสร็จให้เท่านั้น ไม่ได้เป็นบทบังคับ ประกอบกับปัญหาในคดีนี้เป็นเรื่องการชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดิน กฎหมายไม่ได้บังคับว่าการชำระหนี้ในเรื่องดังกล่าวนี้จะต้องมีใบเสร็จมาแสดง ดังนี้แม้จำเลยไม่มีใบเสร็จมาแสดง จำเลยก็ย่อมมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบถึงการชำระหนี้ดังกล่าวนี้ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share