คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่านายหน้าที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนแม้จะเป็นการจูงใจให้ขายสินค้าได้มากขึ้นก็ตาม แต่ขณะ เดียวกันก็คือเงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน ตามผลงานที่โจทก์ทำได้โดยตรงนั่นเอง ส่วนที่จำเลยได้กำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายอย่างไร รวมทั้งจะมีการเรียกชื่อ เป็นอย่างอื่นก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เมื่อวิธีการจ่ายค่านายหน้า อาจปรับได้กับความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ตามประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวมาข้างต้น จึงถือว่าค่านายหน้าเป็นค่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า77,000 บาท ค่านายหน้าจากการขายจำนวน 52,676 บาท และดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 180,709 บาทค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 200,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 11,544 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโจทก์เป็นลูกจ้างมีข้อตกลงว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือน ในเดือนพฤษภาคม 2535โจทก์ได้รับเงินเดือน 14,300 บาท ในกรณีโจทก์ออกปฏิบัติงานนอกสถานที่จำเลยจะออกค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมันรถตามที่ใช้จ่ายไปจริงโดยโจทก์ต้องทำรายงานและแนบใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายด้วยทั้งจำเลยได้กำหนดค่าใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาท ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายจริงและเหมาะสม จำเลยก็จ่ายให้ ส่วนเงินบำเหน็จพิเศษจากการขายนั้น จำเลยตกลงจะจ่ายให้ต่อเมื่อขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 600,000 บาท หากขายไม่ได้ตามเป้าหมายจำเลยก็ไม่ต้องจ่าย โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย 22 เดือนโจทก์ได้รับเงินส่วนนี้ไปแล้วจำนวน 334,057 บาท เฉลี่ยเป็นเงินเดือนละ 15,184.41 บาท โจทก์ได้กระทำผิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยที่โจทก์กล่าวอ้างสูงกว่าความเป็นจริง เพราะโจทก์ได้ค่าจ้างเดือนละ 14,300 บาท และนับตั้งแต่ต้นปี 2534 เป็นต้นมาภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ จำเลยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างใหม่ จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท จำเลยจัดการให้โจทก์ได้รับกองทุนเลี้ยงชีพไปเป็นเงิน 22,012 บาท ในเรื่องจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษหรือค่านายหน้าจากการขายสินค้านั้นมีข้อตกลงกันว่าโจทก์มีสิทธิได้รับต่อเมื่อจำเลยได้เก็บเงินค่าสินค้าตามกำหนดที่ต้องชำระจากลูกค้าแล้ว หากลูกค้าชำระค่าสินค้าเกินกำหนด จำเลยมีสิทธิลดค่าบำเหน็จที่จะต้องจ่ายแก่โจทก์ลงตามส่วน เงินค่าบำเหน็จพิเศษจากการขายจำนวน 52,676 บาทนั้นขณะที่โจทก์ฟ้อง จำเลยยังเรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้ แต่จำเลยก็ได้นำเงินบำเหน็จจากการขายเข้าบัญชีของโจทก์แล้วจำนวน 41,352.92บาท ส่วนที่ค้างชำระจำนวน 11,323.08 บาท ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 11,544 บาท ที่โจทก์อ้างมีจำนวนสูงเกินความเป็นจริง ขณะเลิกจ้างโจทก์ทำงานได้ 5 เดือน สิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปีมีเพียง 4.15 วัน โจทก์ใช้สิทธิหยุดไป 2 วัน โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพียง 1,166.60 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 55,649.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 131,957.82 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 72,600 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 2,613.09 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเพียงข้อเดียวตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่าในการจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ นั้น จะต้องนำค่านายหน้ามารวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานในการคำนวณหรือไม่ ปัญหาที่โต้เถียงกันคงมีว่า ค่านายหน้าที่จ่ายให้กันในคดีนี้เป็นค่าจ้างหรือไม่ข้อนี้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ให้ความหมายของคำว่าค่าจ้างไว้ว่า “หมายความว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงาน และในวันเวลาด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” ที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ว่าจำเลยได้วางหลักเกณฑ์การจ่ายค่านายหน้าไว้ว่าพนักงานจะต้องขายสินค้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือขั้นต่ำต้องขายสินค้าได้ตั้งแต่เดือนละ 450,000 บาทขึ้นไป จำเลยจึงจะจ่ายค่านายหน้าให้และหากลูกค้าชำระราคาสินค้าเกินกำหนดที่ตกลงกันไว้ ก็จะลดค่านายหน้าลงตามส่วนไปจนกระทั่งไม่ต้องจ่ายเลย ความประสงค์ในการจ่ายค่านายหน้าก็เพื่อให้เป็นเงินบำเหน็จพิเศษในการจูงใจให้พนักงานมีความขยันขายสินค้าได้มากขึ้น มิใช่เป็นการจ่ายค่าตอบแทนการทำงาน จึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างนั้น เห็นว่าค่านายหน้าที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนนั้น แม้ว่าจะเป็นการจูงใจให้ขายสินค้าได้มากขึ้นก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็คือเงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานตามผลงานที่โจทก์ทำได้โดยตรงนั่นเอง ส่วนที่จำเลยได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายอย่างไร รวมทั้งจะมีการเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นก็ไม่ใช่ข้อสำคัญเมื่อวิธีการจ่ายค่านายหน้าอาจปรับได้กับความหมายของคำว่า”ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวมาข้างต้น จึงถือว่าค่านายหน้าเป็นค่าจ้างที่จะต้องนำมารวมกับเงินเดือนครั้งสุดท้ายของโจทก์เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
พิพากษายืน

Share