คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3105/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญาได้แม้จะได้มีการบอกเลิกสัญญาแล้ว การที่จำเลยผิดสัญญาเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถไฟจนโจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด และโจทก์ต้องดำเนินการหาผู้เช่าสิทธิรายใหม่มาดำเนินการต่อ ในระหว่างหาผู้เช่าสิทธิรายใหม่โจทก์ต้องให้บุคคลอื่นเช่าสิทธิไปพลางก่อนโดยได้ค่าเช่าน้อยกว่าที่เคยได้รับจากจำเลย ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรได้หากไม่มีการเลิกสัญญากับจำเลยก่อนกำหนดถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติ ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์อนุมัติให้จำเลยเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถที่ 61ถึง 66 ขบวน ก และขบวน ข มีระยะเวลาการเช่า 1 ปี อัตราค่าเช่าสิทธิขบวน ก เดือนละ 57,800 บาท ขบวน ข เดือนละ56,700 บาท ต่อมาจำเลยค้างชำระค่าเช่าสิทธิทั้งขบวน ก และขบวน ข ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2529 โจทก์จึงมีหนังสือขอเลิกสัญญาเช่าสิทธิกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน2529 ให้จำเลยนำเงินค่าเช่าที่ค้าง ค่าป่วยการ ค่าปรับ และค่าอุปกรณ์ชำรุด รวมเป็นเงิน 394,077.29 บาท มาชำระแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย การที่จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ขาดรายได้จากค่าเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเป็นเงิน 133,704บาท รวมค่าเช่าที่ค้าง ค่าป่วยการ ค่าปรับ ค่าอุปกรณ์ชำรุดและค่าขาดประโยชน์จำนวน 527,781.29 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเงิน 105,552 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น 633,333.29 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 มีนายเชิด บุญยะรัตเวช เป็นผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยทำสัญญาเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถที่ 61 ถึง 66ขบวน ก และขบวน ข กับโจทก์ มีกำหนดระยะเวลาการเช่าตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2529 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530อัตราค่าเช่าสิทธิขบวนก เป็นเงิน 57,800 บาท ต่อเดือน ขบวน ขเป็นเงิน 56,700 บาท ต่อเดือน โดยจะต้องชำระค่าเช่าก่อนวันที่1 ของเดือน หากชำระค่าเช่าล่าช้าจะต้องชำระค่าป่วยการเพิ่มอีกร้อยละ 18 ต่อเดือน ของจำนวนค่าเช่าที่ค้างชำระ เศษของเดือนให้คิดเป็น 1 เดือน และต้องชำระค่าปรับครั้งละ 1,000 บาทในวันทำสัญญาจำเลยวางเงินประกันสัญญาเช่าเท่ากับค่าเช่า 3 เดือนสำหรับขบวน ก เป็นเงิน 173,400 บาท ขบวน ข เป็นเงิน 170,100 บาทหากจำเลยค้างค่าเช่าเกินกว่า 2 เดือน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันทีและริบเงินประกันได้ทั้งหมด จำเลยค้างชำระค่าเช่าทั้งขบวน ก และขบวน ข ในเดือนกรกฎาคม สิงหาคมและกันยายน 2529 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าทั้งขบวนกและขบวน ข ถึงจำเลยกำหนดเลิกสัญญาในวันที่ 7 กันยายน 2529 และให้จำเลยนำเงินค่าเช่าที่ค้างชำระเป็นเวลา 2 เดือน 7 วัน ของขบวน กเป็นเงิน 129,087 บาท ขบวน ขเป็นเงิน 126,630 บาทค่าป่วยการฐานชำระค่าเช่าล่าช้าในอัตราร้อยละ 18 ต่อเดือนของขบวน ก เป็นเงิน 62,424 บาท ขบวน ข เป็นเงิน 61,236 บาทค่าปรับฐานชำระค่าเช่าล่าช้าขบวน ก เป็นเงิน 3,000 บาทขบวน ข เป็นเงิน 3,000 บาท ค่าปรับฐานผิดเงื่อนไขสัญญาเช่ากรณีต่าง ๆ ของขบวน ก เป็นเงิน 1,000 บาท ขบวน ข เป็นเงิน7,230 บาท และค่าอุปกรณ์รถขบวนกชำรุด 470.29 บาท รวมเป็นเงิน394,077.29 บาทมาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือโจทก์ได้รับเงินประกันที่จำเลยได้วางไว้แล้วจำเลยได้หยุดการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มตามเวลาที่กำหนดแต่ไม่นำเงินมาชำระ หลังจากบอกเลิกสัญญาแล้วโจทก์ได้ให้บุคคลอื่นเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนรถทั้งสองขบวนเป็นการชั่วคราวขบวนละ 20,100 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 54 วัน จึงสามารถจัดให้มีผู้เช่ารายใหม่เป็นการถาวรได้ ทำให้โจทก์ได้ค่าเช่าต่ำกว่าที่ให้จำเลยเช่าเป็นเงิน 133,704 บาท
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า จะนำเงินประกันสัญญาเช่าที่จำเลยวางกับโจทก์มาหักชำระค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอยู่ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามสัญญาเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ข้อ 30 ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดหรือแสดงให้เห็นว่าไม่มีความสามารถหรือไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอต่อการดำเนินการ หรือกระทำผิดสัญญาข้อ 2, 11, 22, 27 และ 28 ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อก็ดี และถูกบอกเลิกสัญญา ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินประกันตามข้อ 3ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าเช่าค่าปรับ หรือค่าเสียหายที่ผู้เช่าจะต้องชำระหรือชดใช้ตามสัญญานี้”คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเพราะจำเลยผิดสัญญาข้อ 2 ไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิริบเงินประกันทั้งหมดนอกเหนือจากสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างตามสัญญาข้อ 30 ดังกล่าว ส่วนสัญญาข้อ 29 ที่ระบุให้นำค่าเช่าที่ค้างมาหักออกจากเงินประกันตามข้อ 3 จนครบ หากมีเหลือจึงให้คืนแก่ผู้เช่านั้น เป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดเวลาที่ระบุไว้โดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าจึงไม่อาจนำมาปรับแก่กรณีตามฟ้องนี้ได้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างทั้งหมดจำนวน 255,717 บาทจากจำเลย นอกเหนือจากการริบเงินประกันสัญญาเช่า ที่ศาลล่างทั้งสองให้นำเงินประกันสัญญาเช่าที่จำเลยวางไว้กับโจทก์มาหักชำระค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอยู่จึงไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต่อมามีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์หลังจากเลิกสัญญาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรค 4 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญาได้แม้จะได้มีการบอกเลิกสัญญาแล้ว การที่จำเลยผิดสัญญาจนโจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด และโจทก์ต้องดำเนินการหาผู้เช่าสิทธิรายใหม่มาดำเนินการต่อ ในระหว่างหาผู้เช่าสิทธิรายใหม่โจทก์ต้องให้บุคคลอื่นเช่าสิทธิไปพลางก่อนโดยได้ค่าเช่าน้อยกว่าที่เคยได้รับจากจำเลย ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรได้หากไม่มีการเลิกสัญญากับจำเลยก่อนกำหนดถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ส่วนได้ส่วนเสียของโจทก์โดยคำนึงถึงเงินประกันสัญญาที่โจทก์ริบจากจำเลยจำนวน 343,500บาท ประกอบด้วยแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 20,000บาท ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 275,717 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 7 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share