แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ฟ้องคดีขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและ ครอบครองทรัพย์มรดกแบ่งทรัพย์ในกองมรดกให้ และคดีอยู่ในระหว่าง การพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องผู้มีสิทธิรับมรดกที่มีอยู่ ในกองมรดกก็ มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้ได้ ผู้ร้อง ย่อมมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57(1) และ ป.พ.พ. มาตรา 1749 ศาลชั้นต้น จะยก คำร้องสอดอ้างว่าทำให้คดีล่าช้าไม่สะดวกแก่การพิจารณา พิพากษาหาได้ไม่ แม้ว่าผู้ร้องจะชำระค่าขึ้นศาลไม่ครบถ้วน ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะสั่งให้ชำระเพิ่มเติมให้ครบถ้วนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในระยะเวลาหรือเงื่อนไข ที่กำหนดศาลชั้นต้นจึงจะมีอำนาจสั่งไม่รับคำร้องสอดได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโฮถุนหรือโฮตุนกับนางยู้ โหตระภวานนท์ ต่อมานายโฮถุนและนางยู้ถึงแก่กรรม จำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแต่เพียงผู้เดียวและได้จำหน่ายที่ดินมรดกไปจนหมดสิ้น ซึ่งโจทก์ก็มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละหนึ่งในหกส่วน ขอให้บังคับจำเลยแบ่งเงินให้โจทก์คนละ3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสองและทายาทเสร็จแล้ว โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น โจทก์ใช้สิทธิ เรียกร้องเกินกว่า 1 ปีมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายฟ้องจึงขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประสิทธิ์โหตระภวานนท์ ซึ่งเป็นบุตรของนายโฮถุนกับนางยู้ โหตระภวานนท์ ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ผู้ร้องที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของผู้ร้องที่ 1กับนายประสิทธิ์ ผู้ร้องทั้งห้าเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกสืบแทนนายประสิทธิ์จึงอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1749 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องทั้งห้ามีสิทธิได้รับมรดกส่วนของนายประสิทธิ์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ถ้าให้ผู้ร้องเข้ามาจะไม่สะดวกแก่การพิจารณา ผู้ร้องมีสิทธิฟ้องเป็นคดีใหม่และต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง คำร้องมิได้ระบุจำนวนทรัพย์มรดกและเสียค่าธรรมเนียมเพียง 20 บาท จึงไม่ถูกต้อง ให้ยกคำร้อง และในวันเดียวกันนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย
ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องสอด และให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณารับคำร้องสอดแล้วดำเนินคดีต่อไป
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องสอดว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นภริยาของนายประสิทธิ์ ผู้ร้องที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของนายประสิทธิ์ นายประสิทธิ์เป็นทายาทและถึงแก่กรรมภายหลังนายโฮถุนและนางยู้เจ้ามรดก ผู้ร้องทั้งห้าจึงมีสิทธิรับมรดกของนายประสิทธิ์ที่มีอยู่ในกองมรดกทั้งมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและครอบครองทรัพย์มรดกของนายโฮถุนและนางยู้แบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องทั้งห้าได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์ในกองมรดกและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องทั้งห้าย่อมมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 ศาลชั้นต้นจะยกคำร้องสอดโดยอ้างว่าทำให้คดีล่าช้าไม่สะดวกแก่การพิจารณาพิพากษาหาได้ไม่ส่วนในเรื่องค่าขึ้นศาล หากศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องทั้งห้าชำระไม่ครบถ้วนก็เป็นเรื่องที่มีอำนาจที่จะสั่งให้ชำระเพิ่มเติมเสียให้ครบถ้วนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ซึ่งหากผู้ร้องทั้งห้ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงจะมีอำนาจสั่งไม่รับคำร้องสอด…”
พิพากษายืน.