แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและเป็นทางสาธารณะ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมไม่เป็นทางสาธารณะ โจทก์อุทธรณ์ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ คงมีแต่จำเลยฎีกามาฝ่ายเดียวว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะ ส่วนโจทก์มิได้ฎีกา ปัญหาว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในชั้นฎีกาคงมีปัญหาเพียงว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9551, 9552 พร้อมอาคารตึกแถวเลขที่ 298/1, 298/19ซอยสีลม 28 ตามลำดับ ที่ดินทั้งสองโฉนดแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2239 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานครซึ่งปัจจุบันเป็นของจำเลย โดยเจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยแล้วปลูกสร้างอาคารตึกแถวประมาณ40 คูหา ขายให้แก่บุคคลอื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งสอง หลังจากแบ่งแยกแล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 2239 ทำเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อให้ออกสู่ถนนสีลมได้มีชื่อว่า ซอยสีลม 28 อันเป็นทางที่พิพาทกันโจทก์ทั้งสองและประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินและทางรถออกสู่ถนนสีลมทั้งใช้เป็นที่จอดรถและทางระบายน้ำ ทางราชการยังได้ปักเสาไฟฟ้าและวางท่อระบายน้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาชนเป็นเวลาต่อเนื่องกันเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภารจำยอมและทางสาธารณะ จำเลยได้ก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในทางพิพาท ต่อจากด้านซ้ายของอาคารตึกแถวเลขที่ 296/3-4การกระทำของจำเลยทำให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดลงและเสียหายขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2239หากไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการกีดขวางทางภารจำยอมหรือทางสาธารณะ และให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2239 ทั้งแปลงตกเป็นทางภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 9551 และ 9552 ในการใช้เป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะ
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2239 เจ้าของเดิมและจำเลยไม่เคยอุทิศที่ดินโฉนดดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะหรือทางภารจำยอม เมื่อ พ.ศ. 2527จำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดดังกล่าวจากการขายทอดตลาด โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทยังไม่ถึง 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยซื้อได้จากการขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารคอนกรีตหกชั้นบนทางพิพาท ชั้นล่างปล่อยเป็นที่ว่างเปล่าชั้นสองสูงจากพื้นดินประมาณ 4 เมตร อาคารดังกล่าวกว้าง 6.70 เมตร ยาว 14 เมตร สูง 17.70 เมตร ติดต่อกับอาคารตึกแถวเลขที่ 296/3-4 ของจำเลย เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วทางพิพาทยังอยู่ในสภาพเดิม โจทก์ทั้งสองสามารถเข้าออกได้ตามปกติไม่ทำให้ประโยชน์ในการใช้ทางพิพาทลดน้อยหรือเสื่อมสภาพหรือความสะดวกและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2239เป็นทางภารจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในทางภารจำยอมและห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการกีดขวางทางภารจำยอม
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2239แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นทางสาธารณะให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะและห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการกีดขวางทางสาธารณะ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและเป็นทางสาธารณะ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแต่ไม่เป็นทางสาธารณะ พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในทางภารจำยอมและห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการกีดขวางทางภารจำยอมโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะให้จำเลยรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะและห้ามจำเลยกระทำการใด ๆอันเป็นการกีดขวางทางสาธารณะ คงมีแต่จำเลยฎีกามาฝ่ายเดียวว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะ ส่วนโจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกา ดังนั้นปัญหาว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในชั้นฎีกาคดีคงมีปัญหาเพียงว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วฟังว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะ
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง