คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างหลายครั้ง แต่จำเลยไม่ยอมชำระให้ โจทก์จึงยึดรถคืนจากจำเลย การผิดนัดไม่ชำระค่างวดทำให้โจทก์เสียหาย ไม่สามารถนำรถยนต์มาใช้สอยในกิจการของโจทก์ ไม่สามารถนำไปขายหรือจำหน่ายให้แก่ผู้มีชื่ออื่นต่อไปได้ รถของโจทก์หากนำไปให้ผู้มีชื่อเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000 บาท โจทก์ถือเอาระยะเวลา ที่จำเลยผิดนัดจนถึงวันยึดรถคืน โจทก์เสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 5,745 บาท เท่ากับอัตราค่างวด และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยึดรถคืนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,992 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน เช่นนี้ เงินตามคำฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องจากจำเลยมิใช่เงินค่ารถแต่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้ขาดประโยชน์ไปเพราะจำเลยประพฤติผิดสัญญาเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องอายุความกำหนดไว้เป็นพิเศษ จึงต้องถืออายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยมีเงื่อนไขไปจากโจทก์ 1 คัน ราคา 212,350 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ในวันทำสัญญา 40,000 บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระเป็นงวดงวดละ 5,745 บาท รวม 30 งวด กำหนดชำระทุกวันที่25 ของเดือนหากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระค่างวดตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2527ถึงงวดที่ 22 ประจำเดือนพฤษภาคม 2529 รวม 18 งวดเป็นเงิน 103,410 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลายครั้ง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระให้ โจทก์จึงยึดรถคืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529 การผิดนัดไม่ชำระค่างวดทำให้โจทก์เสียหาย ไม่สามารถนำรถมาใช้สอยในกิจการของโจทก์ไม่สามารถนำไปขายหรือจำหน่ายให้กับผู้มีชื่ออื่นต่อไปได้รถของโจทก์หากนำไปให้ผู้มีชื่อเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ6,000 บาท โจทก์ขอถือเอาระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันยึดรถคืน โจทก์เสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ5,745 บาท เท่ากับอัตราค่างวด และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยึดรถคืนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,996 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 122,406 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2527จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ เป็นการซื้อเชื่อ โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิมคดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน โจทก์จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องและแถลงร่วมว่าจำเลยที่ 1 ซื้อรถไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2527 จริงและผิดนัดตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2527 จริง คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นแต่เพียงว่าคดีขาดอายุความหรือไม่หากคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง แต่ถ้าไม่ขาดอายุความจำเลยทั้งสองยอมร่วมกันชดใช้เงิน 76,170 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยคู่ความขอสละประเด็นอื่นทั้งหมด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์บรรยายคำฟ้องว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างหลายครั้งแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระให้ โจทก์จึงยึดรถคืนจากจำเลยที่ 1การผิดนัดไม่ชำระค่างวดทำให้โจทก์เสียหาย ไม่สามารถนำรถยนต์มาใช้สอยในกิจการของโจทก์ ไม่สามารถนำไปขายหรือจำหน่ายให้กับผู้มีชื่อต่อไปได้ รถของโจทก์หากนำไปให้ผู้มีชื่อเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000 บาท โจทก์ถือเอาระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันยึดรถคืน โจทก์เสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 5,745 บาท เท่ากับอัตราค่างวด และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยึดรถคืนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,992 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเห็นว่า เงินตามคำฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องจากจำเลยมิใช่เงินค่ารถ แต่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้ขาดประโยชน์ไปเพราะจำเลยประพฤติผิดสัญญา กรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องถืออายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าอายุความฟ้องร้องของโจทก์มีเพียง 2 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ตามคำฟ้องจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่างวดตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2527จนเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายและยึดรถคืน แล้วนำคดีมาสู่ศาลฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2530 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 76,170 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์

Share