แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของผู้ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงยกคำคัดค้านของโจทก์และให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของจำเลย เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลย จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ชอบที่จะให้จดทะเบียนได้ ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นในการชี้สองสถานว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ย่อมมีความหมายจำกัดเฉพาะในประเด็นที่โต้เถียงกันในคำฟ้องคำให้การเท่านั้น กล่าวคือ มีประเด็นว่าคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายเพราะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศโดยสุจริต แม้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันก็ตามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมรับจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2478 มาตรา 18คำวินิจฉัยของจำเลย จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้มีการจดทะเบียนในต่างประเทศผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศโดยสุจริต นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมรับจดทะเบียนได้ จึงพิพากษายกฟ้อง แม้โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็น แต่จำเลยก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ดังนี้เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็น ศาลอุทธรณ์จึงได้วินิจฉัยต่อไป ในประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่แล้วพิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของผู้ขอจดทะเบียนประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่นี้จึงยังไม่ยุติ จำเลยชอบที่จะฎีกาต่อมาได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 นั้นมีส่วนประกอบสามส่วนคือ ส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่างส่วนบนเป็นอักษรโรมัน คำว่า “ANCHORBRAND” ในลักษณะโค้งเลี้ยวเป็นวงกลมคว่ำลง ส่วนกลางเป็นรูปสมอเรือและส่วนล่างเป็นอักษรภาษาไทยว่า “ตราสมอ” สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 นั้นมีสองส่วน ส่วนบนเป็นรูปสมอเรือ (ไม่มีโซ่) ส่วนล่างเป็นตัวอักษรโรมันว่า “SPERA” ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น มีอักษรโรมันสองคำอยู่ตรงบรรทัดเดียวกัน คำหนึ่งว่า “ULYSSE” อีกคำหนึ่งว่า”NARDIN” ระหว่างคำทั้งสองนี้มีรูปภาพสมอเรือตั้งเอียงไปทางขวาเล็กน้อยในลักษณะภาพสมอเรือเอียงตัดกับอักษรโรมันเป็นรูปกากบาท ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.2กับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะโครงสร้างหรือการวางรูปของเครื่องหมายการค้าทั้งสองรายนี้ต่างกันมากรูปสมอเรือก็ต่างกันมากทั้งลายเส้นแนวตั้ง และส่วนประกอบที่มีโซ่กับไม่มีโซ่อักษรโรมันเป็นคนละคำ และวางอยู่คนละตำแหน่งลักษณะการวางของโจทก์เป็นบรรทัดโค้งส่วนของผู้ขอจดทะเบียนเป็นบรรทัดตรงทั้งการที่ของโจทก์มีอักษรภาษาไทย ส่วนของผู้ขอจดทะเบียนไม่มีอักษรภาษาไทย ย่อมเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 กับเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย ล.1นั้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปสมอเรือ(ไม่มีโซ่) ตั้งอยู่บนข้อความอักษรโรมันว่า “SPERA” ส่วนของผู้ขอจดทะเบียนมีลักษณะรูปกากบาทระหว่างรูปสมอเรือตัดกับอักษรโรมันรูปสมอเรือของโจทก์เป็นรูปภาพเหมือนตั้งตรงของผู้ขอจดทะเบียนเป็นภาพสเก็ตตั้งเอียง ข้อความอักษรโรมันก็เป็นคนละคำ จึงแตกต่างกันทั้งในภาพรวม ตัวรูปสมอเรือการวางรูป และข้อความภาษาโรมันเครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้จึงไม่คล้ายกันอีกเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่สั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 135614 และห้ามจำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 135614
จำเลยให้การว่า คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 135614 บริษัทมานูแฟคเจอร์ เอตปาบริค เดอ มอนเตรสเอตโครโนมีเตรส ยูลิสส์ นาร์ดิน เลอ โลเคิล เอส.เอ. จำกัดเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจำเลยได้ประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนผู้ขอจดทะเบียนได้ยื่นคำโต้แย้ง จำเลยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ชอบที่จะรับจดทะเบียนได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศโดยสุจริต แม้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันก็ตาม นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมรับจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2478 มาตรา 18 ดังนั้น คำวินิจฉัยของจำเลยในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้รับจดทะเบียนจึงชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่สั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่135614 ห้ามจำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ดังกล่าว
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์มีอาชีพขายนาฬิกาและเครื่องอะไหล่โดยตั้งร้านชื่อว่าย่งไถ่พานิช จดทะเบียนพาณิชย์เมื่อปี 2515และใช้เครื่องหมายการค้าตราสมอตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.2 โดยขอจดทะเบียนเมื่อปี 2523 นาฬิกาที่โจทก์ผลิตจำหน่ายมีหลายรูปแบบบิลเงินสดที่โจทก์ออกให้แก่ลูกค้าจะมีข้อความว่าจำหน่ายนาฬิกาตราสมอทุกชนิด เครื่องหมายการค้าของโจทก์แพร่กระจายไปทั้งประเทศ โจทก์ยังขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราสมออีก 1 เครื่องหมายในปีเดียวกันนั้นตามเอกสารหมาย จ.8 ก่อนที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้มีการประกาศในหนังสือจดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้าไม่มีผู้ใดคัดค้านและมีข้อจำกัดว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองเครื่องหมายเป็นชุดเดียวกันถ้ามีการโอนจะไม่แยกโอนเมื่อปี 2529 บริษัทมานูแฟคเจอร์ เอตฟาบริค เดอมอนเตรสเอตโครโนมีเตรส ยูลีสส์ นาร์ดิน เลอ โลเคิล เอส.เอ. จำกัดได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.14หรือ ล.1 ต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าผู้ขอจดทะเบียนจดทะเบียนในสินค้าประเภทนาฬิกาเช่นเดียวกับของโจทก์ โจทก์ได้ทำคำคัดค้านการขอจดทะเบียนต่อจำเลยในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ผู้ขอจดทะเบียนได้ทำคำโต้แย้งจำเลยได้วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนมิได้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และชอบที่จะรับจดทะเบียนได้
สำหรับในประเด็นข้อแรกที่ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 135614 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยได้พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ดังกล่าวไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงยกคำคัดค้านของโจทก์และให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของจำเลย เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลย จำเลยให้การเป็นใจความว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 134614ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ชอบที่จะให้จดทะเบียนได้ ฉะนั้น ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 135614 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นในการชี้สองสถานไว้ว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ย่อมมีความหมายจำกัดเฉพาะในประเด็นที่โต้เถียงกันในคำฟ้องคำให้การเท่านั้น กล่าวคือ มีประเด็นว่าคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 135614 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่นั่นเอง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของจำเลยชอบแล้วเพราะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศโดยสุจริต แม้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันก็ตาม นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมรับจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 18 คำวินิจฉัยของจำเลยในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้รับจดทะเบียนจึงชอบด้วยกฎหมายนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ส่วนประเด็นข้อหลังที่ว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 135614 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 135614 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศโดยสุจริต นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมรับจดทะเบียนได้ จึงพิพากษายกฟ้องแม้โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็นแต่จำเลยก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าในต่างประเทศมาโดยสุจริต นายทะเบียนมีอำนาจรับจดทะเบียนได้นั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ศาลอุทธรณ์จึงได้วินิจฉัยต่อไปในประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ แล้วพิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของผู้ขอจดทะเบียนประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่นี้จึงยังไม่ยุติจำเลยชอบที่จะฎีกาต่อมาได้ ในประเด็นนี้ ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์สองเครื่องหมาย คือเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 กับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.8 ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 135614 ปรากฏตามเอกสารหมายล.1 สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมายจ.2 นั้น มีส่วนประกอบสามส่วนคือส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่างส่วนบนเป็นอักษรโรมันคำว่า “ANCHOR BRAND” ในลักษณะโค้งเลี้ยวเป็นวงกลมคว่ำลง ส่วนกลางเป็นรูปสมอเรือและส่วนล่างเป็นอักษรภาษาไทยว่า “ตราสมอ”สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 นั้นมีสองส่วน ส่วนบนเป็นรูสมอเรือ (ไม่มีโซ่) ส่วนล่างเป็นตัวอักษรโรมันว่า “SPERA” ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนตามขอเลขที่ 135614 ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้นมีอักษรโรมันสองคำ อยู่ตรงบรรทัดเดียวกันคำหนึ่งว่า”ULUSSE” อีกคำหนึ่งว่า “NATDIN” ระหว่างคำทั้งสองนี้มีรูปภาพสมอเรือตั้งเอียงไปทางขวาเล็กน้อย ในลักษณะภาพสมอเรือเอียงตัดกับอักษรโรมันเป็นรูปกากบาท ฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 กับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วจะเห็นได้ว่า ลักษณะโครงสร้างหรือการวางรูปของเครื่องหมายการค้าทั้งสองรายนี้ต่างกันมาก คือของโจทก์มีสามส่วน ของผู้ขอจดทะเบียนมีเพียงสองส่วนขาดอักษรภาษาไทยของโจทก์มีสามส่วนเรียงกันลงมาจากบนลงมาล่างเรียงกันตามแนวดิ่งเป็นสามบรรทัดตามลำดับดังนี้คืออักษรโรมันว่า “ANCHOR BRAND” รูปสมอเรือ และอักษรภาษาไทยว่า “ตราสมอ” โดยอักษรโรมันเป็นบรรทัดโค้งส่วนของผู้ขอจดทะเบียนเป็นลักษณะรูปกากบาทตัดกันระหว่างอักษรโรมันว่า “ULYSSE NARDIN” กับภาพสเก็ตของสมอเรือรูปสมอเรือก็ต่างกันมากทั้งลายเส้น แนวตั้งและส่วนประกอบที่มีโซ่กับไม่มีโซ่ อักษรโรมันเป็นคนละคำ และวางอยู่คนละตำแหน่งลักษณะการวางของโจทก์เป็นบรรทัดโค้ง ส่วนของผู้ขอจดทะเบียนเป็นบรรทัดตรงทั้งการที่ของโจทก์มีอักษรภาษาไทยส่วนของผู้ขอจดทะเบียนไม่มีอักษรภาษาไทย ย่อมเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่135614 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว อันชอบที่จำเลยจะให้ดำเนินการจดทะเบียนได้
สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 กับเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปสมอเรือ (ไม่มีโซ่) ตั้งอยู่บนข้อความอักษรโรมันว่า “SPERA” ส่วนของผู้ขอจดทะเบียนมีลักษณะรูปกากบาทระหว่างรูปสมอเรือตัดกับอักษรโรมันรูปสมอเรือของโจทก์เป็นรูปภาพเหมือนตั้งตรงของผู้ขอจดทะเบียนเป็นภาพสเก็ตตั้งเอียง ข้อความอักษรโรมันก็เป็นคนละคำ จึงแตกต่างกันทั้งในภาพรวม ตัวรูปสมอเรือการวางรูป และข้อความภาษาโรมันเครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้จึงไม่คล้ายกันอีกเช่นกัน ชอบที่จำเลยจะอนุญาตให้ดำเนินการจดทะเบียนได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น