คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การผลิตกาแฟผงของโจทก์ในประเทศไทย อยู่ภายใต้เงื่อนไข และการควบคุมดูแลของบริษัท น. ตามสัญญาให้ความรู้ทางวิศวกรรม โดยโจทก์ต้องชำระเงินค่าตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อโจทก์จะได้ผลิตกาแฟผงตามสูตรและกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับจากบริษัท น. อันเป็นสิทธิที่โจทก์ได้จากบริษัท น. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยเงินค่าตอบแทนที่บริษัท น. ได้รับจึงหาใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระคือวิศวกรรมตามความหมายของมาตรา 40(6)แห่งประมวลรัษฎากรไม่ หากแต่เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้สิทธิผลิตกาแฟผลตามสูตรและความรู้ที่ได้รับตามข้อแนะนำเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตของบริษัท น. ตลอดเวลาของอายุสัญญาที่ได้ทำกันไว้ ซึ่งโจทก์ต้องรักษาไว้เป็นความลับและส่งคืนบรรดาเอกสารทั้งปวงที่เกี่ยวกับสูตรและความรู้ดังกล่าวแก่บริษัท น. เมื่อสิ้นอายุสัญญาหรือสัญญาเลิกกรณีจึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าแห่งสิทธิตามมาตรา 40(3) ซึ่งโจทก์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อเจ้าพนักงานของจำเลยตามมาตรา 70(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1041/2/04034 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 528/2533/2และไม่ว่าจะเป็นกรณีเช่นใดขอได้สั่งงดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปโดยชอบด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า เงินค่าตอบแทนที่บริษัทเนสท์เทคซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับจากโจทก์ เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าแห่งสิทธิตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฏากร หรือเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระคือ วิศวกรรมตามมาตรา 40(6) ปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความแถลงและนำสืบรับกันว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูป โจทก์กับบริษัทเนสท์เทค ได้ทำสัญญาการให้ความรู้ทางวิศวกรรมกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2525ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 294 ถึง 302 พร้อมคำแปลแผ่นที่ 303ถึง 309 และโจทก์กับบริษัทโซซิเอทเต้ เดส์ โปรดุยทส์ เนสท์เล่เอส.เอ. ได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 1กรกฎาคม 2525 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 269 ถึง 283 พร้อมคำแปลแผ่นที่ 284 ถึง 293 ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2527 และ 2528โจทก์ได้จ่ายคำตอบแทนให้แก่บริษัทเนสท์เทคโดยถือว่าเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(6) หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามมาตรา 70(4) แต่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเงินได้ที่โจทก์จ่ายดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(3)ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70(2)
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทที่ผลิตกาแฟผงในประเทศไทย ซึ่งในการผลิตกาแฟผงสำเร็จรูปนั้น โจทก์ได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ากับบริษัทโซซิเอทเต้ เดส์ โปรดุยทส์เนสท์เล่ เอส.เอ. เพื่อให้โจทก์มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า”NESCAFE” (เนสกาแฟ) ตามสัญญาลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2525เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 269 ถึง 283 และคำแปลแผ่นที่ 284 ถึง 293ต่อมาในปีเดียวกันคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2525 โจทก์ได้ทำสัญญาการให้ความรู้ทางวิศวกรรมกับบริษัทเนสท์เล่ โปรดักส์เทคนิคัลแอซซัสแทนซ์ คำปะนี ลิมิเต็ด หรือบริษัทเนสท์เทคตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 294 ถึง 302 และคำแปลแผ่นที่ 303 ถึง 309 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือด้วยกันและสำนักงานบริษัทตั้งอยู่แห่งเดียวกัน กับบริษัทโซซิเอทเต้ เดส์ โปรดุยทส์ เนสท์เล่ เอส.เอ.สัญญาทั้งสองฉบับที่โจทก์ทำกับบริษัททั้งสองดังกล่าวมีอายุสัญญาและ ระยะเวลาสิ้นสุดเหมือนกันคือ วันที่ 30 ธันวาคม 2531 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 290 และแผ่นที่ 308 ทั้งมีเงื่อนไขถ้าบริษัทเนสท์เทคเลิกสัญญากับโจทก์ บริษัทโซซิเอทเต้ เดส์โปรดุยทส์ เนสท์เล่ เอส.เอ. ก็มีสิทธิเลิกสัญญากับโจทก์เช่นเดียวกันตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 290 และ 291สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว นอกจากจะระบุให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า และบริษัทเนสท์เทคจะต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านวิศวกรรมแล้วยังระบุในข้อ 3 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า และ ข้อ 2(จ) ของสัญญาการให้ความรู้ทางวิศวกรรม ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 285 และ 304ตามลำดับ ให้บริษัททั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์จัดหาและแนะนำกรรมวิธีการผลิต ตำรับสูตรหรือความรู้อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์กาแฟผงของโจทก์ด้วย โดยเฉพาะข้อตกลงซึ่งโจทก์ได้ทำไว้กับบริษัทเนสท์เทคตามสัญญาข้อ 1 และข้อ 2(จ) เอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 303 และ 304 นั้น นอกจากบริษัทเนสท์เทคจะต้องให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพและรักษาระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสูงแล้วบริษัทเนส์เทคยังต้องให้ข้อแนะนำวิธีในการผลิตแก่โจทก์ศึกษาและแนะนำวิธีการใช้กรรมวิธีใหม่และพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายสุเวช วันทนีย์พร พยานจำเลยประกอบเอกสารพร้อมคำแปลหมาย จ.7 และ จ. 7/1 ถึง จ.18 และ จ.18/1 ว่าบริษัทเนสท์เทคได้ให้คำปรึกษาแนะนำตามที่โจทก์ต้องการอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสูตรการผลิตซึ่งเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการผลิต เช่น การวิเคราะห์เกี่ยวกับน้ำเพื่อทำให้สินค้าได้มาตรฐานขึ้นตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 241 และคำแปลแผ่นที่ 251 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.14 และคำแปลเอกสารหมาย จ.14/1 เป็นต้น ส่วนบริษัทโซซิเอทเต้ เดส์ โปรดุยทส์ เนสท์เล่ เอส.เอ.นั้นไม่ปรากฏว่าเคยให้ข้อแนะนำแก่โจทก์เกี่ยวกับเรื่องสูตรหรือกรรมวิธี การผลิตเลย ดังที่นายสุเวชพยานจำเลยเบิกความว่าในชั้นตรวจสอบโจทก์ไม่สามารถส่งหลักฐานเกี่ยวกับข้อแนะนำของบริษัทดังกล่าวได้ การที่โจทก์ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้บริษัทเนสท์เทค ร้อยละ 3 ของยอดขายสุทธิของผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ผลิตตามสัญญาข้อ 5 เอกสาร หมาย ล.1 แผ่นที่ 306 และมีข้อกำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวข้อ 14 เอกสาร หมาย ล.1 แผ่นที่ 309 ห้ามมิให้โจทก์ใช้กรรมวิธีในการผลิต วิทยาการ หรือเครื่องประดิษฐ์ซึ่งบริษัทเนสท์เทคแนะนำให้โจทก์ใช้ในระหว่างอายุสัญญาทันทีเมื่อสัญญาเลิก และโจทก์ต้องส่งคืนเอกสารทั้งปวง ที่ได้รับไปจากบริษัทเนสท์เทค รวมทั้งบรรดาสำเนาเกี่ยวกับข้อสนเทศ ทางเทคนิคก็ให้ถือเป็นความลับด้วยนั้น แสดงให้เห็นว่าการผลิตกาแฟผงของโจทก์อยู่ภายใต้เงื่อนไขและการควบคุมดูแลของบริษัทเนสท์เทคโดยโจทก์ต้องชำระค่าตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อโจทก์จะได้ผลิตกาแฟผลให้ประเทศไทยตามสูตรและกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับจากบริษัทเนสท์เทค อันเป็นสิทธิที่โจทก์ได้จากบริษัทเนสท์เทคที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เงินค่าตอบแทนที่บริษัทเนสท์เทคได้รับจึงหาใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระคือวิศวกรรมตามความหมายของมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากรไม่หากแต่เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้สิทธิผลิตกาแฟผงตามสูตรและความรู้ที่ได้รับตามข้อแนะนำเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตของบริษัทเนส์เทคตามตลอดเวลาของอายุสัญญาที่ได้ทำกันไว้ ซึ่งโจทก์ต้องรักษาไว้เป็นความลับและส่งคืนบรรดาเอกสารทั้งปวงที่เกี่ยวกับสูตรและความรู้ ดังกล่าวแก่บริษัทเนสท์เทคเมื่อสิ้นอายุสัญญาหรือสัญญาเลิกกรณีจึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าแห่งสิทธิตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโจทก์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อเจ้าพนักงานของจำเลยตามมาตรา 70(2)”
พิพากษายืน

Share