คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4955/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทนตามล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 58 แล้วโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมมีความสามารถประกอบกิจการ หรือจัดการทรัพย์สินได้ต่อไป เมื่อการให้ถ้อยคำ ต่อเจ้าพนักงานประเมินตามที่โจทก์ถูกเรียกตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษี การอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่งจึงอยู่ในอำนาจของโจทก์ที่จะจัดการได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมสรรพากร ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร แม้โจทก์จะได้รับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแล้ว แต่กรมสรรพากรจำเลยก็มิได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้นั้นจึงไม่อาจผูกมัดเจ้าพนักงานประเมินในการเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์เพราะโจทก์ไม่อาจหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56,77 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 77บัญญัติเพียงว่าคำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ โดยมีข้อยกเว้นหนี้อันพึงขอรับชำระได้เพียง 2 กรณี ซึ่งข้อยกเว้นกรณีนี้กฎหมายหาได้มีบัญญัติว่าต้องเป็นหนี้ที่ได้ยื่นขอรับชำระแล้วหรือเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 91 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ แม้กรมสรรพากรจำเลย มิได้ยื่นขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดตามมาตรา 91 ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2527 โจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายที่ศาลแพ่ง และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโจทก์เมื่อวันที่9 กรกฎาคม 2528 โจทก์ได้ส่งมอบสมุดบัญชีและเอกสารสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524-2525 ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2530 เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีของโจทก์และให้โจทก์นำบัญชีเอกสารประกอบการลงบัญชีและสำเนาใบเสร็จรับเงินสำหรับรอบเวลาบัญชีปี 2524-2525 ไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินโจทก์แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบว่าสมุดบัญชีและเอกสารอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ไม่สามารถส่งมอบให้ได้ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 เป็นเงิน 5,936,623 บาทและรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 เป็นเงิน 5,131,316 บาทโดยประเมินในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆด้วยเหตุที่โจทก์ไม่นำสมุดบัญชีและเอกสารส่งมอบให้เจ้าพนักงานประเมินเพื่อทำการตรวจสอบไต่สวน ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้วโจทก์ยังไม่เห็นด้วยกับวิธีประเมินตามเหตุผลดังกล่าว ทั้งมูลหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524-2525 ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โจทก์จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลขอศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโจทก์ ดังนั้นอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์จึงเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวแม้ว่าโจทก์ได้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบแล้วก็ตาม แต่โจทก์ยังอยู่ในระหว่างการผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขแห่งการประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังไม่หมดอำนาจที่จะฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วเพราะเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกให้โจทก์ให้ถ้อยคำชี้แจงและนำบัญชีเอกสารประกอบการลงบัญชีและสำเนาใบเสร็จรับเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี2524-2525 ไปส่งมอบเพื่อประกอบการตรวจสอบไต่สวน โจทก์แจ้งว่าโจทก์ถูกฟ้องล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เรียกสมุดบัญชีของโจทก์ 2524ไปทั้งหมดขอเลื่อนเวลาการส่งสมุดบัญชี ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหนังสือเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามหมายเรียก โจทก์แจ้งว่าไม่สามารถนำสมุดบัญชีและเอกสารส่งมอบได้ ขอให้เจ้าพนักงานประเมินขอรับสมุดบัญชีจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยตรงเจ้าพนักงานประเมินจึงได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอสมุดบัญชีและเอกสารดังกล่าวแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าโจทก์ไม่ได้นำสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปส่งมอบให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่นำสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปส่งมอบให้เจ้าพนักงานประเมินเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย อีกทั้งเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภายหลังจากที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพ้นกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จำเลยจึงไม่ได้ยื่นคำขอชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์จึงหาหลุดพ้นจากหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวไม่ อีกทั้งเป็นการประเมินภายหลังจากที่โจทก์ได้ทำการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้ว จำเลยไม่ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ดังกล่าว โจทก์จึงยังต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56 และ 77 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเมื่อปี 2527และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดเมื่อวันที่9 กรกฎาคม 2528 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้เมื่อวันที่13 มีนาคม 2529 ครั้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2530เจ้าพนักงานประเมินได้มีหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524และปี 2525 ของโจทก์ โดยให้โจทก์ส่งมอบสมุดบัญชีและเอกสารเพื่อการตรวจสอบแต่โจทก์ไม่นำส่งมอบตามหมายเรียกโดยอ้างว่าโจทก์ได้ส่งมอบให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้วแต่เจ้าพนักงานประเมินไม่เชื่อและได้ใช้อำนาจประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) เพราะเหตุโจทก์ไม่ส่งสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 เป็นเงิน 5,936,623 บาท และปี 2525 เป็นเงิน5,131,316 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ภายในกำหนด
ปัญหาแรกตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ในระหว่างการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือไม่เห็นว่าในการขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 45 วรรคสอง กำหนดว่าลูกหนี้จะต้องทำคำขอโดยแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินซึ่งหมายถึงว่าในระหว่างการประนอมหนี้ลูกหนี้จะเป็นผู้จัดกิจการหรือทรัพย์สินเองหรือว่าให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 หากให้บุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้เพื่อจัดการชำระหนี้แล้วก็ต้องถือว่าลูกหนี้ยังคงถูกพิทักษ์ทรัพย์อยู่ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนเองเช่นเดิมต่อไปแต่ถ้าการประนอมหนี้ที่ศาลเห็นชอบด้วยแล้วนั้น ไม่ปรากฏว่าได้ตั้งบุคคลอื่นหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทนลูกหนี้ ต้องถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นเป็นอันยกเลิกไปในตัวและลูกหนี้กลับเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนขึ้นตามเดิมดังจะเห็นได้ตามข้อความในตอนท้ายของมาตรา 60 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติเรื่องที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายไว้ว่าให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาและแจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย แสดงให้เห็นว่าเมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้และลูกหนี้ไม่ถูกจำกัดอำนาจตามมาตรา 58 แล้วลูกหนี้ย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนเองได้ต่อไปกฎหมายจึงยอมให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการประนอมหนี้ได้สำหรับคำพิพากษาฎีกาที่ 85/2505ที่จำเลยอ้างนั้นเพียงแต่วินิจฉัยว่าการที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายขณะคดีแพ่งสามัญดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาไม่ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดอำนาจและหน้าที่ในคดีล้มละลายและยังทำการแทนจำเลยในคดีดังกล่าวต่อไปได้ จะนำมาตรา 63 จึงใช้สำหรับการประนอมหนี้ เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วมาบังคับไม่ได้เท่านั้นหาได้หมายความว่าลูกหนี้ในคดีล้มละลายยังคงถูกพิทักษ์ทรัพย์ต่อไปไม่ เมื่อคดีนี้ศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ ไม่ถูกจำกัดอำนาจ โดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทนตามมาตรา 58 แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินได้ต่อไปคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นอันยุติไปในตัว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมหมดอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เพียงแต่มีอำนาจบางประการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขการประนอมหนี้ตามมาตรา 57 หรือการขอให้ยกเลิกการประนอมหนี้ได้ตามมาตรา 60 รวมทั้งการดำเนินคดีแพ่งแทนลูกหนี้ตามมาตรา 25ที่ยังคั่งค้างอยู่ต่อไปเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเมื่อการให้ถ้อยคำเจ้าพนักงานประเมินตามที่ถูกเรียกตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีการอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังเช่นคดีนี้เป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่งจึงอยู่ในอำนาจของโจทก์ที่จะจัดการได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์หลังจากศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56 จะบัญญัติว่า “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้” ก็ตาม แต่ในมาตราเดียวกันนี้ก็บัญญัติต่อไปว่า “แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้” ซึ่งในมาตรา 77 ก็บัญญัติว่า “คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันถึงขอรับชำระหนี้ได้เว้นแต่ (1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากรหรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล (2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลายหรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้”เมื่อหนี้ในคดีนี้เป็นหนี้เกี่ยวกับภาษีอากร แม้โจทก์จะได้รับการประนอมหนี้ แต่จำเลยก็มิได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้จึงไม่อาจผูกมัดเจ้าพนักงานประเมินในการเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์เพราะโจทก์ไม่อาจหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ยื่นขอรับชำระหนี้ภาษีรายนี้ภายในกำหนดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2487 มาตรา 91 โจทก์จึงหลุดพ้นความรับผิดในหนี้ภาษีรายนี้ เพราะหนี้ภาษีอากรตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 77 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 91 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 77บัญญัติเพียงว่าคำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ โดยมีข้อยกเว้นหนี้อันถึงขอรับชำระได้เพียง 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น ซึ่งข้อยกเว้นกรณีนี้กฎหมายหาได้มีบัญญัติว่าต้องเป็นหนี้ที่ได้ยื่นขอรับชำระแล้วหรือเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 91 ดังที่โจทก์อ้างไม่ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share