แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ อันเป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515ไม่ใช้บังคับ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 ไม่ใช้บังคับ ข้อ 2 อันเป็นผลให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน แต่ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 45 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชย ให้ แก่ พนักงาน ซึ่งเลิกจ้างโจทก์ทำงานมาแล้วประมาณ6 ปี จำเลยเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่าย ค่าชดเชย แก่โจทก์ ตามระเบียบดังกล่าว
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2516 และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยครั้งสุดท้ายได้รับค่าจ้างเดือนละ 8,290 บาท และ 5,260 บาทตามลำดับ ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเดิมและจ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้งสองเท่ากับอัตราค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม99,480 บาท และ 63,120 บาท กับค่าชดเชย 47,740 บาท และ 31,500 บาท แก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,190 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะระหว่างวันที่ 13 ถึง 20 กรกฎาคม 2535 โจทก์ทั้งสองเอาข้อความอันเป็นเท็จใส่ความคณะกรรมการบริษัทและผู้บังคับบัญชาขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาและแถลงข่าวเกี่ยวกับกิจการภายในบริษัทต่อหนังสือพิมพ์โดยพลการซึ่งความจริงคณะกรรมการบริษัทและ กรรมการผู้จัดการใหญ่หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่โจทก์ทั้งสองแถลงข่าวแต่ประการใด ทำให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บังคับบัญชาได้รับความเสียหาย จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทั้งสองแล้วมีความเห็นว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดจริงโดยมีเจตนาดูหมิ่นใส่ร้ายใส่ความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการบริษัทและผู้บังคับบัญชามีพฤติการณ์อันไม่เหมาะสมทำให้บุคคลทั่วไปและพนักงานเกิดความสับสวนแตกแยกเกลียดชังฝ่ายบริหารบริษัทจำเลย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพพจน์และชื่อเสียงของจำเลยอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,190 บาท และ 5,260 บาทตามลำดับ โจทก์ที่ 1 ทำงานเป็นเวลาประมาณ 19 ปี โจทก์ที่ 2ทำงานเป็นเวลาประมาณ 6 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยได้โดยไม่จำต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เสียก่อน โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นนายกสมาคม โจทก์ที่ 2 เป็นรองนายกสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจบริษัทขนส่งจำกัดได้ร่วมกันให้ข่าวต่อหนังสือพิมพ์ตามเอกสารหมาย ล.1 แต่ข้อความที่โจทก์ทั้งสองให้ข่าวเป็นความจริงและกล่าวหาพาดพิงไปถึงนายสำราญ เทศสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทจำเลยและคณะกรรมการบริษัทจำเลย ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการดำเนินการบริหารกิจการของจำเลยที่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นดังกล่าว นายสำราญจะอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อควรถามโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมเพื่อป้องกันส่วนได้เสียและผลประโยชน์ของจำเลยโดยโจทก์ทั้งสองมีส่วนในกิจการของจำเลยซึ่งโจทก์ทั้งสองย่อมกระทำได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นการดูหมิ่นผู้บังคับบัญชาอันเป็นเท็จ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย เพราะประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ ข้อ 2 กำหนดว่า ให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515ไม่ใช้บังคับ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 99,480 บาทแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 31,560 บาท แก่โจทก์ที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนและโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 2 ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 ข้อ 45 นั้น เห็นว่า แม้บริษัทขนส่งจำกัดจะเป็นรัฐวิสาหกิจ อันเป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 ไม่ใช้บังคับ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 ไม่ใช้บังคับ ข้อ 2อันเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน แต่ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,260 บาท และทำงานมาแล้วประมาณ 6 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534จำเลยจึงต้องจ่าย ค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2 ไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันเป็นเงิน 31,560 บาทตามข้อ 45(3) แห่งระเบียบดังกล่าวข้างต้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 31,560 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง