คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ต้นฉบับใบอนุญาตขับรถยนต์ของ น. ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุอยู่ในความครอบครองของ น. ซึ่งหลบหนีคดีอาญา โจทก์ที่ 1 จึงอยู่ในฐานะที่ไม่อาจจะนำต้นฉบับใบอนุญาตขับรถยนต์นั้นมาเป็นพยานเอกสารได้ จึงเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นที่ว่าไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นศาลจึงรับฟังสำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) จำเลยให้การรับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1ไว้จริงแต่จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันเพราะผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยข้ออ้างดังกล่าวจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นในคำให้การจึงมีหน้าที่นำสืบในข้อนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของรถยนต์เบนซ์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-0458กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 1 ได้ร่วมกับโจทก์ที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แก่จำเลยแบบชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกในวงเงิน 500,000 บาท นายนิทัศน์ พรหมใจรัก ผู้ได้รับอนุญาต ให้ ขับรถยนต์สาธารณะได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวชนกับรถยนต์กระบะเล็กคันหมายเลขทะเบียน น-0102 เชียงราย ของนายเสริมศักดิ์ ชัยราโพธิ์ที่นายวิชิต สายทองเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะเสียหายและนายเสริมศักดิ์กับพวกได้รับอันตรายทั้งสาหัสและไม่สาหัสนายเสริมศักดิ์กับพวกได้ฟ้องโจทก์ที่ 1 และจำเลยกับพวกต่อศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 แจ้งจำเลยเพื่อให้ดำเนินคดีแทนตามที่ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์ที่ 1ต่อสู้คดีเองโดยเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินจำนวน 30,000 บาทและโจทก์ที่ 1 ต้องชำระเงินแก่นายเสริมศักดิ์กับพวกตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจำนวน 200,920 บาท โดยจำเลยซึ่งจะต้องร่วมรับผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชำระและไม่ได้วางเงินหรือหลักประกันต่อศาลชั้นต้น จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 241,920 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าจำเลยรับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 10-0458 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง แต่ผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 คันที่เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยไม่มีใบอนุญาตให้ขับรถยนต์ โจทก์ทั้งสองไม่นำผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของโจทก์ที่ 1 ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์ว่าคนขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาท การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ที่ 1มิได้มีหนังสือบอกกล่าวจำเลยเพื่อให้จำเลยต่อสู้คดีในนามของโจทก์ที่ 1 ทั้งค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีของโจทก์ที่ 1อย่างสูงไม่เกิน 5,000 บาท นอกจากนี้คดีของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่ 17345/2527 ที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยถูกฟ้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ยังไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์ที่ 1 ถูกบังคับเพราะไม่วางเงินหรือหลักประกันต่อศาลชั้นต้นในการขอทุเลาการบังคับคดีจึงเป็นความผิดของโจทก์ที่ 1 และเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวก็มิใช่เป็นค่าเสียหายอันแท้จริงที่จำเลยต้องรับผิดชอบ เพราะตามกฎหมายผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงเท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องและจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 211,920 บาทแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งตอ่ปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 คำขออื่นให้ยกจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ที่ 1 ได้เอาประกันภัยรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 10-0458กรุงเทพมหานคร แก่จำเลย ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.10หรือ ล.1 ต่อมาระหว่างระยะเวลาประกันภัย เมื่อวันที่ 29 มกราคม2525 รถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวได้ชนกับรถยนต์กระบะเล็กของนายเสริมศักดิ์ ชัยราโพธิ์ หลังเกิดเหตุแล้ว โจทก์ที่ 1ได้แจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์ที่ 1 และจำเลยถูกนายเสริมศักดิ์กับพวกฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17345/2527 ของศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 กับพวกร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่นายเสริมศักดิ์และพวกโจทก์ที่ 1 ชำระเงินจำนวน 211,920 บาท แก่นายเสริมศักดิ์และพวกไปแล้ว คดีมีประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย ว่าโจทก์ที่ 1 ผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ ซึ่งจำเลย ฎีกาข้อแรกว่า ใบอนุญาตขับรถยนต์ของนายนิทัศน์ พรหมใจรักตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเพียงสำเนาภาพถ่าย จำเลยได้ปฏิเสธไม่รับรองความถูกต้องโจทก์ที่ 1 สามารถนำต้นฉบับมาได้ การ ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้รับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นเว้นแต่ (2) ถ้าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถได้ตัวนายนิทัศน์เจ้าของใบอนุญาตขับรถยนต์มาเบิกความได้เพราะได้ความจากคำของนายประสิทธิสิทธิตรีวัฒน์ ที่ปรึกษาของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นพยานโจทก์ที่ 1ว่า หลังเกิดเหตุรถชนกัน พนักงานสอบสวนสอบปากคำนายนิทัศน์แล้วนัดให้พยานนำนายนิทัศน์ไปให้ปากคำอีกครั้งหนึ่งแต่นายนิทัศน์ก็ไม่ยอมไปตามนัดและไม่ได้มาทำงานที่ห้างโจทก์ที่ 2ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา นอกจากนี้ตามคำของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของนายนิทัศน์ก็ว่า หลังเกิดเหตุแล้วนายนิทัศน์ได้หลบหนีเพราะเป็นฝ่ายผิดในคดีอาญา กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถได้ตัวนายนิทัศน์มาเป็นพยานได้ ดังนั้นแม้เอกสารหมาย จ.1 จะเป็นเพียงสำเนาเอกสารก็ตาม แต่เมื่อต้นฉบับใบอนุญาตขับรถยนต์ดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของนายนิทัศน์ซึ่งหลบหนีคดีอาญาโจทก์ที่ 1 ก็อยู่ในฐานะที่ไม่อาจจะนำต้นฉบับใบอนุญาตขับรถยนต์นั้นมาเป็นพยานเอกสารได้ ชอบที่ศาลจะรับฟังสำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2) นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายประสิทธิ สิทธิตรีวัฒน์เบิกความยืนยันว่าหลังเกิดเหตุรถชนกันแล้ว พยานเป็นผู้พานายนิทัศน์ไปให้พนักงานของจำเลยชื่อนายแก้วสอบปากคำและนายนิทัศน์แสดงใบอนุญาตขับรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.1ให้นายแก้วดู และนายแก้วได้ขอถ่ายสำเนาเก็บไว้ด้วย พยานจำเลยคงมีแต่นายสุชาติ อารยวุฒิ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกตรวจสอบอุบัติเหตุรถยนต์ของจำเลยเบิกความลอย ๆ อ้างว่าโจทก์ที่ 1 มิได้นำใบอนุญาตขับรถยนต์ของนายนิทัศน์ไปแสดงต่อจำเลยทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารหมาย จ.1 แต่อย่างใดดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า นายนิทัศน์ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของโจทก์ที่ 1 ในขณะเกิดเหตุโดยมีใบอนุญาตขับรถยนต์นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า ภาระในการพิสูจน์เรื่องนี้เป็นเรื่องของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้เห็นอย่างแน่ชัดนั้น เห็นว่าจำเลยให้การรับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ไว้จริงแต่จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันเพราะผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้ออ้างดังกล่าวจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นในคำให้การจึงมีหน้าที่นำสืบในข้อนี้ หาใช่โจทก์ไม่เมื่อจำเลยนำสืบไม่สมข้อกล่าวอ้างจำเลยจึงไม่อาจชนะคดีได้”
พิพากษายืน

Share