แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้โจทก์ได้ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอให้ขับไล่ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทรายเดียวกันนี้ โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1ในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดี โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับข้ออ้างตามคำบรรยายฟ้องในครั้งนี้ ดังนั้น ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกัน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนที่ศาลในคดีก่อนจะได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 19875 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 57/1 ปลูกอยู่ 1 หลัง เมื่อปี 2521 โจทก์ขายเฉพาะที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 แต่ได้ทำนิติกรรมอำพรางว่าโอนบ้านดังกล่าวด้วยเพราะจำเลยที่ 3 จะนำที่ดินและบ้านไปจำนองธนาคารให้ได้วงเงินสูงขึ้นโดยตกลงให้โจทก์และบริวารอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทต่อไปได้ต่อมาจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 4 ได้นำที่ดินไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและจำเลยที่ 1 และที่ 2รู้อยู่แล้วว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2525โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามจากทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้โจทก์ย้ายออกจากที่ดินและบ้านพิพาทโดยอ้างว่าบ้านเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์และขอให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนเพิกถอนการขายฝากในส่วนที่กล่าวถึงสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยได้ทำนิติกรรมขายฝากโดยชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และเป็นฟ้องซ้ำ เพราะศาลชั้นต้นได้พิพากษาในประเด็นนี้มาแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 646/2527 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากที่ดินและบ้านพิพาทมาแล้ว ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 875/2527ซึ่งศาลพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า คดีฟังไม่ได้ว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ว่า โรงเรือนพิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 19875 และบ้านเลขที่ 57/1 ที่ตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขายที่ดินต่อให้จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ขายฝากที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 5 ไม่ไถ่ที่ดินแปลงดังกล่าวภายในกำหนดจึงหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว
ในปัญหาที่ว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่นั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2531วินิจฉัยว่าคดีฟังไม่ได้ว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลาฎีกาแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จากฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โจทก์มิได้โต้แย้งว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นคดีนี้โจทก์ได้ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอให้ขับไล่ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาททรายเดียวกันนี้โดยอ้างเหตุตามคำฟ้องคดีนั้นว่า โจทก์อาศัยอยู่ในบ้านพิพาทซึ่งเป็นอู่ซ่อมรถยนต์ จำเลยทั้งสองบอกกล่าวให้ออกไปจาก ที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว โจทก์ไม่ยอมออก โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1ในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีโดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับข้ออ้างตามคำบรรยายฟ้องของตนในคดีนี้ว่า นางพิมพรจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ซื้อเฉพาะที่ดิน พิพาทจากโจทก์ แต่โจทก์ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทไปด้วย เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองกับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินและบ้านพิพาทโดยรู้อยู่แล้วว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ บ้านพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขับไล่โจทก์ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2529 วินิจฉัยว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วพิพากษาให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินและบ้านพิพาทตามคดีหมายเลขแดงที่ 875/2527 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาใหม่ลงวันที่ 24มิถุนายน 2531 วินิจฉัยว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นโจทก์ ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนที่ศาลในคดีก่อนจะได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 144เช่นกันการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์