คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2703/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ราคาสินค้าพิพาทตามที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้นเป็นราคาที่ผู้ขายได้ให้ส่วนลดแก่โจทก์เป็นพิเศษจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ขายจัดทำกันขึ้นเอง จะถือว่าเป็นราคาที่แท้จริงในท้องตลาดไม่ได้ถึงแม้โจทก์จะอ้างว่าได้มีการตัดทอนชิ้นส่วนบางประการของสินค้าออกไป โจทก์ได้ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการตัดทอนชิ้นส่วนอะไรไปบ้าง จึงยังฟังไม่ได้ว่ามีการตัดทอนชิ้นส่วนบางประการออกไปจริง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าผู้ขายให้ส่วนลดพิเศษแล้วโจทก์ก็ยังขาดทุน เห็นว่า แม้โจทก์จะขายสินค้าพิพาทไปไม่มีกำไรแต่หากโจทก์ไม่ส่งเข้ามาจำหน่ายจะถูกแย่งตลาดไปแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องนำสินค้าพิพาทเข้ามาขายในราชอาณาจักรแม้จะได้กำไรน้อยหรือไม่ได้กำไรก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สั่งซื้อเคาื่องอัดสำเนาจำนวน80 เครื่อง เข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า สำแดงราคา 791,474.72 บาทเจ้าพนักงานไม่พอใจราคาสินค้าให้โจทก์ชำระอากรตามจำนวนที่สำแดง และให้วางประกันเป็นเงิน 106,000 บาท โจทก์ชำระอากรตามจำสวนที่สำแดงและนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ตเตอร์ด มาวางเป็นประกัน ต่อมาวันที่2 ธันวาคม 2529 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มเป็นเงิน 85,280 บาท พร้อมทั้งเงินเพิ่มโจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมิน วันที่ 14 มกราคม 2530จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมตามแบบแจ้งการประเมินทันที เพราะจำเลยได้สั่งงดผ่านพิธีการใบขนสินค้าทั้งหมดของโจทก์ไว้แล้ว โจทก์จึงจำต้องชำระภาษีอากรตามที่ถูกประเมินเพิ่มเป็นเงิน 100,233.89 บาทโจทก์โต้แย้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยว่าจะฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืน ต่อมาวันที่ 17 กรกฎาคม 2531 โจทก์ได้รับหนังสือจากกองวิเคราะห์ราคาแจ้งผลอุทธรณ์การประเมินอากรว่าเจ้าหน้าที่ได้ประเมินราคาโดยชอบแล้ว ให้ยื่นการประเมินราคาเดิมการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะราคาเครื่องอัดสำเนาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ขอศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 100,233.89 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การประเมินราคาชอบแล้ว โจทก์ซื้อสินค้ามาจากผู้ผลิตในราคาเครื่องละ 300 ปอนด์สเตอร์ลิง ราคาดังกล่าวเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนว่าซื้อมาในราคา 250 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อเครื่องมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเพราะเป็นราคาที่มีการลดหย่อนหักทอนกันเองระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้งการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ชำระภาษีอากรถูกต้องแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยด้วยโจทก์นำสินค้าเข้ามาวันที่ 29 ตุลาคม 2529 เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2529 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน กว่า 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 10 วรรคห้า
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ราคาสินค้าพิพาทตามที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 นั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2527 บริษัทผู้ขายสินค้าพิพาทให้โจทก์ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าบริษัทเร็กซ์โรตารี่ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศเดนมาร์ก ได้ตกลงขายเครื่องอัดสำเนาชนิดเดียวกันกับที่โจทก์นำเข้ามาครั้งนี้ในราคาเครื่องละ 300 ปอนด์สเตอร์ลิง แต่จะทำใบกำกับสินค้า(INVOICE) ถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในราคาเอฟ โอ บี เครื่องละ250 ปอนด์สเตอร์ลิง ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 128,129 พร้อมคำแปล แม้หนังสือดังกล่าวจะทำขึ้นก่อนที่โจทก์จะนำสินค้าพิพาทเข้ามาถึง 2 ปีเศษ แต่ก็เป็นพิรุธให้เห็นว่าราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์สำแดงไว้น่าจะไม่ใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์นำสืบว่าบริษัทเก็สเต็ตเนอร์ ลอนดอนได้มีหนังสือยืนยันว่าได้ขายให้โจทก์ในราคา เอฟ โอ บีเครื่องละ 250 ปอนด์สเตอร์ลิง ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 57,58 โดยบริษัทเก็สเต็ดเนอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้ให้ส่วนลดพิเศษจำนวน 50 ปอนด์สเตอร์ลิง เอฟ โอ บี ต่อหนึ่งเครื่องจากราคา 300 ปอนด์สเตอร์ลิง และได้มีการตัดทอนชิ้นส่วนบางประการออกนั้น เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์เองแสดงว่าสินค้าพิพาทซึ่งขายกันในท้องตลาดมีราคา เอฟ โอ บีเครื่องละ 300 ปอนด์สเตอร์ลิง แต่ผู้ขายได้ให้ส่วนลดแก่โจทก์เป็นพิเศษ ซึ่งหากจะมีการให้ส่วนลดพิเศษจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์จริงก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัทเก็สเต็ดเนอร์ ลอนดอน จัดทำขึ้นเอง ไม่ถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด และที่โจทก์อ้างว่าได้มีการตัดทอนชิ้นส่วนบางประการของเครื่องอัดสำเนาออกไปโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการตัดทอนชิ้นส่วนอะไรบ้าง จึงยังฟังไม่ได้ว่ามีการตัดทอนชิ้นส่วนบางประการออกไปจริง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่โจทก์สั่งซื้อสินค้าพิพาทมาในราคาเครื่องละ 250 ปอนด์สเตอร์ลิงโจทก์ยังขาดทุนถึงเครื่องละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท นั้น เห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 75 ถึง 77 แสดงต้นทุนของเครื่องอัดสำเนาชนิดที่โจทก์นำเข้าว่า หากนำเข้าในราคาเอฟ โอ บี เครื่องละ 250 ปอนด์สเตอร์ลิง และ 300 ปอนด์สเตอร์ลิงต้นทุนพื้นฐานหลังจากผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้วเป็นเงิน16,230 บาท และ 19,358 บาท ตามลำดับ โดยคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่ากับ 40 บาทเครื่องอัดสำเนาดังกล่าวโจทก์นำสืบว่านำเข้าเพื่อขายให้แก่ส่วนราชการในราคาเรื่องละ 22,000 -24,000 บาท ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าแม้โจทก์จะซื้อเครื่องอัดสำเนาดังกล่าวมาในราคาเอฟ โอ บี เครื่องละ 300 ปอนด์สเตอร์ลิง และโจทก์ขายไปในราคาเครื่องละ 22,000 บาท โจทก์ก็ยังมีกำไร ตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 75 ถึง 77 ปรากฏว่า เหตุที่โจทก์ขาดทุนเพราะมีค่าใช้จ่ายในการขายเครื่องอัดสำเนาดังกล่าวถึงเครื่องละ 11,000 บาทเศษซึ่งมากเกินสมควร ทั้งยังปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 ว่า ขณะที่โจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร อัตราแลกเปลี่ยน 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่ากับ37.555 บาท เท่านั้นต้นทุนพื้นฐานของโจทก์ย่อมถูกลงอีก และเมื่อโจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาเพื่อขายให้แก่หน่วยราชการ โจทก์ย่อมลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกมาก จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์สั่งซื้อสินค้าพิพาทเข้ามาในราคา เอฟ โอ บี เครื่องละ 300 ปอนด์สเตอร์ลิง แล้วจะขาดทุนมากดังที่โจทก์นำสืบ นายเทรเวอร์ คีช วัลเลย์กรรมการผู้จัดการของโจทก์ก็เบิกความว่า แม้ขายสินค้าพิพาทไปไม่มีกำไร แต่โจทก์จะมีกำไรในการขายหมึกพิมพ์และหากไม่ส่งเข้ามาจำหน่ายจะถูกแย่งตลาดไป แสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องนำสินค้าพิพาทเข้ามาขายในราชอาณาจักรแม้จะได้กำไรน้อยหรือไม่ได้กำไรก็ตาม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทมีราคา เอฟ โอ บี เครื่องละ 300 ปอนด์สเตอร์ลิงตามที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินราคาที่โจทก์สำแดงมาในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้น จึงไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ ของโจทก์เรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share