คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1890/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เป็นการพิจารณา โดยการขาดนัด หากจำเลยไม่มรณะก็ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 147 การขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตาม มาตรา 42 และ 43 นั้น แม้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ ส่วนที่มาตรา 42 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดีให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะจะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะนั้น เป็นกรณีที่ศาลให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไปถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดีหากคู่ความมรณะภายหลังศาลพิพากษาคดีแล้วก็ไม่มีกรณีที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณา ในระหว่างนี้หากคดียังไม่ถึงที่สุดทายาทของผู้มรณะก็ยังคงมีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ มิใช่ว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วสิทธิขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะสิ้นไปด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกับจำเลย หากทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของจำเลย จึงเป็นกรณีสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ผู้ร้องอ้างว่าเป็นทายาทของจำเลยร้องขอเข้ามาแทนที่จำเลยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องกรรมสิทธิ์รวมขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกะปิ ให้โจทก์มีชื่อร่วมกับจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 1124พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับให้จดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อร่วมในรถยนต์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกะปิ ให้โจทก์มีชื่อร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดินเลขที่ 1124 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลย เนื่องจากจำเลยถึงแก่ความตายแล้ว จึงขอเข้าเป็นจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 กับขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างว่า จำเลยมิได้จงใจนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยไม่ทราบ หากศาลได้ให้โอกาสผู้ร้องในการเสนอพยานหลักฐานเพื่อหักล้างคำพยานโจทก์แล้ว คดีย่อมฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทโจทก์มีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีแทนจำเลยผู้มรณะเพราะผู้ร้องจะเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกของจำเลยหรือไม่ โจทก์ไม่ทราบไม่รับรอง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยแต่คดีนี้ไม่มีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและจำเลยมรณะเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะ และขอพิจารณาใหม่เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นทายาทของจำเลยโดยเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลย อนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลย และคำร้องของผู้ร้องได้กล่าวโดยแจ้งชัดแล้วถึงเหตุที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล รวมถึงเหตุที่ทำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องล่าช้าด้วย คำร้อง ของ ผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 แล้ว และจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การโจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะแล้วจึงส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์โดยมิให้โจทก์มีโอกาสคัดค้านก่อนเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะและขอพิจารณาใหม่ในคำร้องฉบับเดียวกัน ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ยื่นคำคัดค้านโดยไม่ได้คัดค้านว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำร้องของผู้ร้อง หลังจากนั้นศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะแล้วอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะ และในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่โจทก์ก็มิได้คัดค้านปัญหานี้แต่อย่างใด โจทก์เพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่แทนจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 เพราะจำเลยถึงแก่ความตายภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีแล้ว มิใช่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43 และการขอพิจารณาใหม่โดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยผู้ตายไม่ใช่กองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 เห็นว่าศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เป็นการพิจารณาโดยการขาดนัด หากจำเลยไม่มรณะก็ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 การขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 42 และ 43 นั้น แม้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ ส่วนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ” นั้นเป็นกรณีที่ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี หากคู่ความมรณะภายหลังศาลพิพากษาคดีแล้วก็ไม่มีกรณีที่จะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณา ในระหว่างนี้หากคดียังไม่ถึงที่สุดทายาทของผู้มรณะก็ยังคงมีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ มิใช่ว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วสิทธิขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะสิ้นไปด้วย สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกับจำเลยหากทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องขอมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของจำเลย จึงเป็นกรณีสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ผู้ร้องอ้างว่าเป็นทายาทของจำเลยร้องขอเข้ามาแทนที่จำเลยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้”
พิพากษายืน

Share