คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1826/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับชื่อจำเลยและวันเกิดเหตุละเมิดซึ่งเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้อง มิใช่เป็น การขอแก้ไขคำฟ้องตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(1) และ (2)แม้โจทก์ทั้งห้าจะมิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันสืบพยานศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าแก้ไขได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 180 แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในคำฟ้องว่า ธ.เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งคันที่ถูกชน แต่โจทก์ทั้งห้าก็ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จากเหตุรถชนกันทำให้รถยนต์ที่ ธ.ขับมาได้รับความเสียหายและ ธ. ถึงแก่ความตายเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ธ. ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าว คิดเป็นเงิน 315,000 บาท และโจทก์ที่ 1 ขอให้จำเลยชดใช้ราคารถยนต์คันดังกล่าวด้วยเมื่อทางพิจารณาได้ความว่ารถยนต์ที่ถูกชนเป็นรถของ ธ.การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ราคารถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม2529 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0075 เพชรบุรี ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท ชนรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน7จ-9190 กรุงเทพมหานคร ที่นายธนู นิสาลักษณ์ ขับสวนมาทางในช่องเดินรถสวน เป็นเหตุให้นายธนูและนางสาวเมตติยา นิสาลักษณ์ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ได้รับอันตรายสาหัส รถยนต์เก๋งได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายธนูและเป็นมารดาของนางสาวเมตติยาผู้ตายได้รับความเสียหายกล่าวคือ ความเสียหายของรถยนต์เก๋งคิดเป็นเงิน 315,000 บาทค่าจัดการศพผู้ตายทั้งสองเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะจากนายธนูปีละ 240,000 บาท เป็นเวลาสิบปีคิดเป็นเงิน2,400,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะจากนางสาวเมตติยาเป็นเวลาสิบปีคิดเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าเสียหายทั้งหมดดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ขอเรียกร้องเพียง 1,100,000 บาท โจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล 40,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการประกอบการงานระหว่างเจ็บป่วย 18,697.50 บาท แต่โจทก์ที่ 2 ขอเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 50,000 บาท โจทก์ที่ 3 เสียค่ารักษาพยาบาล10,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการประกอบการงานระหว่างเจ็บป่วย4,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 14,000 บาท โจทก์ที่ 4 เสียค่ารักษาพยาบาล 10,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการประกอบการงานระหว่างเจ็บป่วย 2,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 12,000 บาทโจทก์ที่ 5 เสียค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0075 เพชรบุรีขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามจำนวนดังกล่าวข้างต้น พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของนายธนู นิสาลักษณ์ฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สัญญาประกันภัยสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 735,000 บาท25,000 บาท 6,400 บาท 7,200 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าสินไหมทดแทนของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้าเฉพาะ ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์แต่ละคนชนะคดี กำหนดค่าทนายความให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาทโจทก์ที่ 2 และที่ 5 คนละ 2,000 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 4 คนละ400 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง และอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เฉพาะที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 2และที่ 5 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนและยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ฎีกาคำสั่งและคำพิพากษา ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 เฉพาะที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายธนูนิสาลักษณ์ และเป็นมารดาของนางสาวเมตติยา นิสาลักษณ์นายธนินทร์ นิสาลักษณ์ เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 5เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2529 นายธนูได้ขับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 7จ-9190 กรุงเทพมหานคร จากกรุงเทพมหานคร จะไปบ้านพักตากอากาศที่อำเภอหัวหิน มีนางสาวเมตติยาและโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 นั่งโดยสารไปด้วย เมื่อนายธนูขับรถคันดังกล่าวมาถึงบริเวณหน้าโรงเรียนหัวหินวิทยาลัยได้เกิดเหตุชนกับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0075 เพชรบุรี บรรทุกหินซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับสวนทางมาเป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 7จ-9190 กรุงเทพมหานคร พังเสียหายทั้งคัน นายธนูและนางสาวเมตติยาถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ได้รับอันตรายสาหัส
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามฎีกาคำสั่งของจำเลยที่ 2 ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าแก้ไขคำฟ้อง โดยโจทก์ทั้งห้ามิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันสืบพยาน เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้มิได้มีการชี้สองสถาน ในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นวันสืบพยานโจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ชื่อจำเลยที่ 1 จากนายสามารถ เสือเดช เป็นนายสามารถหรือสมมารถ หรือเสือเดช และขอแก้วันเกิดเหตุจากวันที่ 29 สิงหาคม 2530 เป็นวันที่ 29 สิงหาคม 2529 ซึ่งเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้อง มิใช่เป็นการขอแก้ไขคำฟ้องตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(1) และ (2) แม้โจทก์ทั้งห้าจะมิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันสืบพยาน ศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าแก้ไขได้ตามคำร้อง กรณีไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าแก้ไขได้ตามคำร้องจึงชอบแล้ว
ปัญหาว่า การที่โจทก์ที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องว่า นายธนูนิสาลักษณ์ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 7จ-9190 กรุงเทพมหานคร แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที 2 ใช้ราคารถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ เห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในคำฟ้องว่านายธนู นิสาลักษณ์ เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวโดยตรง แต่โจทก์ทั้งห้าก็ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจากเหตุรถชนกัน ทำให้รถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 7จ-9190กรุงเทพมหานคร ที่นายธนูขับมาได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายธนู ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าวคิดเป็นเงิน 315,000 บาทและโจทก์ที่ 1 ขอให้จำเลยชดใช้ราคารถยนต์คันดังกล่าวด้วยเมื่อทางพิจารณาได้ความว่ารถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 7จ-9190กรุงเทพมหานคร ที่ถูกชนเป็นรถของนายธนู การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ราคารถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด”
พิพากษายืน

Share