แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สามยทรัพย์และภารยทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกันแม้ทางพิพากษาจะมีคลองสาธารณะคันอยู่ก็อาจเป็นภารจำยอมได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2338 โดยซื้อมาจากนาวาตรีสุขุม น้อยเศรษฐ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2529 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 74935 ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเดิมเลขที่ 2338 โดยได้รับการให้จากพันเอกประยูร น้อยเศรษฐ โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่นในที่ดินโฉนดเลขที่ 5539โดยได้รับการให้จากมารดาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2501 จากที่ดินของโจทก์ที่ 1 เดิมบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 ทำสะพานข้ามคลองจีน มาสู่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2338 และทำถนนเป็นทางรถยนต์เข้าออก ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2338 กว้างประมาณ 3 เมตรครึ่งออกสู่ ถนนวุฒากาศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา เป็นเวลา28 ปี โดยโจทก์ที่ 1 กับเจ้าของรวมใช้ทางนี้ออกตลอดมาโจทก์ที่ 1 จึงได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความ โจทก์ที่ 2ใช้ทางในที่ดินโฉนดเลขที่ 2338 นี้ตลอดแนวริมคลองกว้างประมาณ3 เมตรครึ่ง ยาวประมาณ 28 เมตร เป็นทางเข้าออกสู่ถนนวุฒากาศ มาเกินกว่า 30 ปี โจทก์ที่ 2 จึงได้ภารจำยอมในทางดังกล่าว นอกจากนี้ที่ดินของโจทก์ที่ 2 ยังถูกปิดล้อมไม่มีทางออกไปสู่ถนนสาธารณะได้ หากจะออกต้องผ่านที่ดินของจำเลยด้านติดคลองจีน อันเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2529 จำเลยนำสังกะสีมาปิดกั้นทางพิพาทจนเหลือเพียงประมาณ 1 เมตร ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2ไม่สามารถใช้เป็นทางรถยนต์เข้าออกสู่ถนนวุฒากาศได้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทักท้วงให้จำเลยรื้อรั้วที่ปิดกั้นจำเลยไม่ยอมรื้อ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 2338 ดังกล่าว กว้าง 3 เมตรครึ่งจากถนนวุฒากาศลึกตลอดแนวติดคลองจีนสุดเขตด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยและให้รื้อรั้วที่ปิดกั้นด้วย
จำเลยให้การว่า ที่ดินของจำเลยไม่ได้ตกอยู่ในภารจำยอมหรือเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่2338 เลขที่ดิน 116 ตำบลบางค้อ (บางนางนอง) อำเภอบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร ด้านทิศใต้กว้าง 3 เมตรครึ่งทั้งนี้ไม่เกินจากแนวรั้วสังกะสีที่ปรากฏในภาพหมาย จ.7 จากถนนวุฒากาศ ลึกเข้าไปตลอดแนวติดคลองจีนสุดเขตที่ดินทางด้านทิศใต้ของจำเลยตามสภาพเดิมและให้รื้อรั้วที่ปิดกั้นออกไปด้วย จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 2338เลขที่ดิน 116 ตำบลบางค้อ (บางนางนอง) อำเภอบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร มิใช่ทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 2 ตามฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ทางพิพาทตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5539 ของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ โจทก์ที่ 1 มีตัวโจทก์ที่ 1เป็นพยานเบิกความว่าโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายประเสริฐและนางอุบลซึ่งประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างใช้ชื่อร้ายว่าประเสริฐแสงหล่อก่อสร้างตั้งร้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5539ตำบลบางค้อ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ที่ดินแปลงดังกล่าวมารดาโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2501ทิศเหนือจดคลองจีน ทิศใต้จดที่ดินเลขที่ 117 ทิศตะวันออกจดที่ดินเลขที่ 117 และทิศตะวันตกจดที่ดินเลขที่ 845ม และ 966 ตามโฉนดเลขที่ 5539 เอกสารหมาย จ.11 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 มารดาโจทก์ ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 และบุตรอีก 4 คนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เมื่อประมาณ 20 ปี มาแล้ว มารดาโจทก์ที่ 1จึงได้สร้างสะพานกว้างประมาณ 3 เมตร ข้ามคลองจีนและทำทางกว้างประมาณ 3 เมตรครึ่ง ยาวประมาณ 19 เมตรเลียบคลองจีนออกสู่ถนนวุฒากาศซึ่งเป็นทางสาธารณะและใช้ทางดังกล่าวตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 28 ปี โจทก์ที่ 1 ก็ได้ใช้ทางดังกล่าวด้วยโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 มีนางอุบลมารดาโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีที่ดินอยู่ทางทิศตะวันออกเบิกความสนับสนุนได้ความสอดคล้องต้องกันฝ่ายจำเลยก็มีตัวจำเลย นาวาตรีสุขุม น้อยเศรษฐผู้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2338 ให้จำเลยและเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าทางพิพาทกว้างประมาณครึ่งเมตร โจทก์ที่ 1ใช้ทางพิพาทมาไม่เกิน 10 ปี ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 1 มีทั้งพยานบุคคลและพยานภาพถ่ายหมาย จ.6-จ.10 เชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผล ทางพิพาทและสะพานข้ามคลองไปสู่ทางพิพาทตามภาพถ่ายดังกล่าวมีลักษณะใช้มานานแล้ว จำเลยคง มีแต่พยานบุคคลเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน พยานหลักฐานโจทก์ที่ 1 มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าพยานจำเลย จึงฟังได้ว่า มารดาโจทก์ที่ 1 และครอบครัวรวมทั้งตัวโจทก์ที่ 1 ได้ใช้ทางพิพาทมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทจึงตกอยู่ในภารจำยอม เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5539ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกันดังนี้ แม้จะมีคลองสาธารณะคั่นอยู่ก็อาจเป็นภารจำยอมได้”
พิพากษายืน