คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ย่อมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นระเบียบที่มีอยู่เดิมหรือที่ออกในภายหลัง เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ จำเลยจึงผิดสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย คำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องให้จำเลยรับผิดเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์จงใจฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหาย และโจทก์ได้มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากธนาคารโจทก์แล้วฐานปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหาย และขาดความไว้วางใจนั้นเป็นการฟ้องในมูลผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขายานนาวาของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นสมุห์บัญชี และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รักษาเงินประจำสาขายานนาวาของโจทก์ จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งและข้อบังคับของโจทก์ในเรื่องการเก็บรักษากุญแจโดยเคร่งครัด แต่จำเลยทั้งสามได้จงใจฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ปฏิบัติและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้คนร้ายบุกรุกเข้าไปงัดกุญแจโต๊ะทำงานของจำเลยทั้งสามนำลูกกุญแจไปไขเปิดประตูห้องมั่นคงและตู้เซฟได้โดยสะดวก และโจรกรรมเงินสดจำนวน5,055,917.53 บาท และธนบัตรเงินตราต่างประเทศคิดเป็นเงินจำนวน 24,143.29 บาท ไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามใช้เงินจำนวน 8,890,106.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 5,080,060.82 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์โดยตลอด ได้รับความไว้วางใจและรับโล่ห์เกียรติยศของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เหตุเกิดเพราะบุคคลภายนอกบุกรุกเข้าไปโจรกรรมในตอนกลางคืน งัดทำลายโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1 เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 3มิได้จงใจฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของโจทก์ มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน4,080,060.82 บาท พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529และจำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2524 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยดังนี้
ข้อ 1. ระเบียบและคำสั่งของโจทก์ในการเก็บรักษากุญแจตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า ระเบียบและคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำสั่งของโจทก์ฝ่ายเดียว และในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างกับโจทก์เมื่อปี 2488นั้น โจทก์ยังไม่ได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ โจทก์เพิ่งออกคำสั่งนี้ในภายหลัง ระเบียบและคำสั่งจึงมิใช่ส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ย่อมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นระเบียบที่มีอยู่เดิมหรือที่ออกในภายหลัง กับทั้งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าระเบียบและคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวโดยเคร่งครัดแล้ว จำเลยที่ 1 จะกล่าวแก้ไขเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1
ข้อ 2. คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องคดีหลังเกิดเหตุแล้วนานถึง 9 ปีเศษคดีของโจทก์จึงขาดอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 แล้ว เพราะโจทก์ฟ้องในมูลละเมิด ศาลฎีกาได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว เห็นว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดเนื่องจากจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์จงใจฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหายตามฟ้อง และโจทก์ได้มีคำสั่งปลดจำเลยทั้งสามออกจากธนาคารโจทก์แล้ว ฐานปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหายและขาดความไว้วางใจ ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share