คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองครอบครองอาคารเพื่อพานิชกรรมและจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมดังกล่าวซึ่งครบองค์ประกอบความผิด มาตรา 21 ประกอบมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยมาตรา 70 ระบุถึงกรณีกระทำการดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม มิใช่ดัดแปลงอาคารโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อพาณิชยกรรม จึงหาจำต้องบรรยายว่าจำเลยทั้งสองดัดแปลงอาคารโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อพาณิชยกรรมไม่ และที่โจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดก็เข้าใจได้ในตัวเองแล้วไม่จำต้องบรรยายในรายละเอียดอีกว่าร่วมกันกระทำโดยตลอดหรือแบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร โจทก์ไม่จำต้องอ้างมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯเพราะมิใช่มาตราที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นใดเป็นความผิด ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)(6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2538เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ครอบครองอาคารเพื่อพาณิชยกรรมเลขที่ 99/11 ซอยสดพิณสรร แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ-มหานคร ร่วมกันดัดแปลงอาคารดังกล่าว โดยต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กบนดาดฟ้าเพื่อดัดแปลงเป็นพื้นที่ชั้นที่ 4 ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 4 เมตร ทำการรื้อบันไดคอนกรีตในอาคารออกทั้งสามชั้นเพื่อขยายพื้นที่และต่อเติมสร้างบันไดเหล็ก (บันไดเวียน) บนที่ว่างด้านหลังอาคารทั้งสี่ชั้น อันเป็นการทำให้รูปแบบโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของอาคารดังกล่าวที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วผิดไปจากเดิม ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือออกใบอนุญาตให้ได้และมิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงต่อเติมจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย และเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2538 จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมดังกล่าวทั้งหมดให้เสร็จภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2538 จำเลยทั้งสองร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว โดยไม่รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติม ซึ่งเป็นส่วนของอาคารที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตามกฎหมายดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง ทั้งนี้จำเลยทั้งสองไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควรและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 22, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 69, 70, 71 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30, 76(3)(4) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 22 (ที่ถูกไม่ผิดมาตรานี้) 40,42, 65, 66 ทวิ, 69, 70, 71 จำเลยทั้งสองกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองคนละ 40,000 บาท กับปรับอีกวันละคนละ 1,000 บาท จนกว่าจะรื้อถอน ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับจำเลยทั้งสองคนละ 80,000 บาท กับปรับอีกวันละคนละ 10,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 2 เดือน ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 120,000 บาท และปรับอีกวันละคนละ 11,000 บาท จนกว่าจะรื้อถอน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 เดือน และปรับจำเลยทั้งสองคนละ60,000 บาท กับปรับอีกวันละคนละ 5,500 บาท นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2538 จนกว่าจะรื้อถอน โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยประการที่สองว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และ (6)หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองกระทำการอย่างไรที่บ่งชี้ว่ามีเจตนาดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม และไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าร่วมกันกระทำผิดอย่างไร หรือแบ่งหน้าที่กันดัดแปลงอาคารอย่างไร ทั้งไม่อ้างบทมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งปัญหาดังกล่าวแม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสองแต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองครอบครองอาคารเพื่อพาณิชยกรรม และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมดังกล่าวซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 21 ประกอบมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522โดยมาตรา 70 บัญญัติหมายความว่า กระทำการดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม มิใช่ดัดแปลงอาคารโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อพาณิชยกรรม จึงหาจำต้องบรรยายว่าจำเลยทั้งสองดัดแปลงอาคารโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อพาณิชยกรรมดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใดไม่และที่โจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดก็เข้าใจได้ในตัวเองแล้วไม่จำต้องบรรยายในรายละเอียดอีกว่าร่วมกันกระทำโดยตลอดหรือแบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร และโจทก์ไม่จำต้องอ้างบทมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพราะมิใช่บทมาตราที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นใดเป็นความผิด ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)(6)…”

พิพากษายืน

Share