แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เพิกถอน น.ส.3 ก. ถ้าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้เอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 เมื่อต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ย่อมมีผลเป็นการไม่ติดใจให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ตามคำขอท้ายฟ้องด้วย จึงถือเสมือนไม่มีคำขอให้เพิกถอนน.ส.3 ก. อยู่ในคำขอท้ายฟ้อง ศาลจึงสั่งเกี่ยวกับการเพิกถอน น.ส.3 ก. ไม่ได้ เนื่องจากจะเป็นการสั่งเกินคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 น.ส.3 ก. ของที่ดินพิพาทไม่ได้ทับที่ดินของโจทก์การที่จำเลยที่ 5 ได้ น.ส.3 ก. ดังกล่าวไปจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้วได้โอนที่ดินตาม น.ส.3 ก. ให้แก่จำเลยที่ 6 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในทางอื่นอีกจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เพิกถอนการออก น.ส.3 ก. เลขที่ 4411 ที่ออกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งทับที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 3958 ของโจทก์บางส่วนและทับลำน้ำสาธารณประโยชน์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 4411ระหว่างจำเลยที่ 5 และที่ 6
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ไม่ต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การและฟ้องแย้งว่า น.ส.3 ก.เลขที่ 4411 และ 4412 มิได้ทับที่ดินของโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายนำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดทับที่ดินของจำเลยที่ 5และที่ 6 ขอให้ยกฟ้องโจทก์ กับบังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 5 และที่ 6 รวมกัน 20,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5 และที่ 6
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอน น.ส.3 ก.เลขที่ 4411 คำขอโจทก์ จำเลยที่ 5 และที่ 6 นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอน น.ส.3 ก.เลขที่ 4411 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เพิกถอน น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.3ถ้าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้เอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เมื่อต่อมาโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เสียแล้ว ย่อมมีผลเป็นการไม่ติดใจให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ตามคำขอท้ายฟ้องด้วย จึงถือเสมือนไม่มีคำขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก.เอกสารหมาย จ.3 อยู่ในคำขอท้ายฟ้อง ศาลจึงไม่อาจก้าวล่วงไปสั่งเกี่ยวกับการเพิกถอน น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.3 เนื่องจากเป็นการสั่งเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
โจทก์ฎีกาว่า นอกจากกฎหมายให้สิทธิโจทก์ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว โจทก์ยังมีอำนาจฟ้องโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอีกด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นคดีนี้ เห็นว่า การดำเนินคดีในส่วนแพ่งต้องมีผู้เสนอคดีต่อศาล และผู้ที่จะเสนอคดีได้ต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลนั้นจะต้องใช้สิทธิทางศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 5ขอออก น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.3 ทับที่ดินของโจทก์และที่ดินสาธารณประโยชน์แล้วขายให้แก่จำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทมิได้ทับที่ดินของโจทก์และโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในข้อนี้ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จึงฟังเป็นยุติได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เมื่อที่ดินพิพาทไม่ได้ทับที่ดินของโจทก์โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6และการที่จำเลยที่ 5 ได้ น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.3ไปจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้วได้โอนที่ดินตาม น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.3 ให้แก่จำเลยที่ 6 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในทางอื่นอีก จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6
พิพากษายืน