แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทโดยจำเลยที่ 1 มิได้มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยแต่อย่างใดดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภรรยากันจำเลยที่ 3 เป็นบุตร เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2528 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 104,000 บาท และ 79,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2หลายรายการ ต่อมาโจทก์ได้เตรียมการที่จะยึดตึกแถว 2 ชั้นเลขที่ 68/1 หมู่ที่ 2 ตำบลป่าตาล อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรีพร้อมด้วยสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ จังหวัดลพบุรี ที่ตึกแถวดังกล่าวปลูกสร้างอยู่ แต่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนยกให้ตึกแถว 2 ชั้น พร้อมด้วยสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยเสน่หา และจำเลยที่ 3 ได้นำตึกแถวดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลพบุรีเพื่อเป็นประกันหนึ่งเงินกู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาย้ายไปเสีย หรือโอนทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสามทราบดีว่านอกจากทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับชำระหนี้ได้อีก และจำเลยทั้งสามมีเจตนาทำให้เสียหายเอาไปเสีย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามรู้ว่าน่าจะถูกโจทก์ยึดหรืออายัดและเพื่อมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350, 187, 90, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 และมาตรา 350 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 187 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภรรยากันจำเลยที่ 3 เป็นบุตร ทรัพย์พิพาทตึกแถว 2 ชั้น เลขที่ 68/1พร้อมด้วยสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุซึ่งตึกแถวตั้งอยู่เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ผู้เดียวมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2528 ต่อมาประมาณเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม 2528 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลจังหวัดลพบุรี เรื่องผิดสัญญาซื้อขาย และเรียกค่าเสียหายศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 104,000 บาทและ 79,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยการยึดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยที่ดินที่ยึด ส่วนบ้านและทรัพย์สินอื่นให้ยกคำร้องในคดีร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวโจทก์ได้ทราบจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ว่าทรัพย์พิพาทเคยเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่19 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 2 ได้โอนทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3โดยเสน่หา ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ทรัพย์พิพาทจะเคยเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้หย่าขาดจากกันแล้วก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งโจทก์จึงต้องนำสืบให้ได้ความว่า หลังจากหย่ากันแล้วจำเลยที่ 1และที่ 2 ยังมิได้มีการแบ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ระหว่างเป็นสามีภรรยากันอันจะถือได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์พิพาท ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าขณะจดทะเบียนการหย่านั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งต่อนายทะเบียนว่า เรื่องเงินและทรัพย์สินไม่มีให้บันทึกแต่อย่างใด และจำเลยที่ 1 ยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านตลอดมา ตามทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวยังไม่อาจชี้ชัดว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้มีการแบ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ในระหว่างเป็นสามีภรรยากันอันจะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์พิพาทหย่ากันโดยได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินกันว่าทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ใดเป็นเจ้าของให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้นั้น หลังจากหย่ากันแล้วจำเลยที่ 2 มีสามีใหม่ พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามจึงมีน้ำหนักส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2หย่ากันโดยได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินกันว่าทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ใดเป็นเจ้าของให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้นั้น หลังจากหย่ากันแล้วจำเลยที่ 2 มีสามีใหม่ พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามจึงมีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า หลังจากหย่ากันแล้ว จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทโดยจำเลยที่ 1 มิได้มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน