คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ว่า ประเทศอังกฤษได้นำเมืองฮ่องกงเข้าเป็นภาคีของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 หรือไม่อันจะเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 หรือไม่ นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 42 ฎีกาจำเลยที่โต้เถียงว่า เมืองฮ่องกงเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของประเทศจีน ไม่เป็นภาคีในกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 นั้น เป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาแล้ว จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 4, 13, 27, 42, 44, 47, 49 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 มาตรา 3, 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้แถบบันทึกภาพยนตร์วีดีโอของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และให้จ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท์จำกัด และบริษัทสพ๊อทไลท์ เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ผู้เสียหายทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกบริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท์ จำกัด ว่าโจทก์ร่วมที่ 1และเรียกบริษัทสพ๊อทไลท์ เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ว่าโจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 44 วรรคสอง แถบบันทึกภาพยนตร์วีดีโอของกลางแม้จะละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งโจทก์ที่ 1และโจทก์ร่วมที่ 2 แต่ก็จับได้ในคราวเดียวกันและสถานที่เดียวกันจึงเป็นกรรมเดียวกัน ให้จำคุกจำเลย 4 เดือน ปรับ 20,000 บาทจำเลยเพิ่งกระทำผิดครั้งแรกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีภายในระยะเวลา 2 ปี สำหรับค่าปรับถ้าจำเลยไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเอกสารการเช่าภาพยนตร์วีดีโอของกลาง ให้ภาพยนตร์วีดีโอของกลางตกเป็นโจทก์ร่วมทั้งสองและคืนให้โจทก์ร่วมทั้งสอง ให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า แถบภาพยนตร์วีดีโอเรื่อง”ศึกลำน้ำเลือด” ม้วนที่ 5, 7, 10 จำนวน 3 ม้วน เรื่อง”แม่ยอดซื้อบื่อ” ม้วนที่ 1 จำนวน 2 ม้วน เรื่อง “เฮงแน่ชีวิตนี้”ม้วนที่ 3, 4, 5 จำนวน 3 ม้วน เรื่อง “ผมเป็นโสดนะครับ”ม้วนที่ 3, 4, 5 จำนวน 3 ม้วน เรื่อง “ยอดทรนง” ม้วนที่ 4, 5จำนวน 2 ม้วน เรื่อง “เทพบุตรมังกรฟ้า” ม้วนที่ 15, 17, 18, 19จำนวน 4 ม้วน และเรื่อง “กระบี่มังกรหยก” ม้วนที่ 9 จำนวน 2 ม้วนตามม้วนแถบวีดีโอหมาย จ.8/1 ถึง จ.8/6 และ จ.10 ของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากร้าน เค.ซี. วีดีโอเป็นภาพยนตร์วีดีโอที่ทำซ้ำมาจากภาพยนตร์วีดีโอของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2เมืองฮ่องกงเป็นอาณานิคมที่อยู่ในความครอบครองของประเทศอังกฤษ ประเทศอังกฤษเป็นภาคีของกรรมสารกรุงเบอร์ลินค.ศ. 1908 เมื่อ ค.ศ. 1912 และเป็นภาคีพิธีสารเพิ่มเติมกรุงเบอร์น ค.ศ. 1914 เมื่อ ค.ศ. 1915 ประเทศอังกฤษได้อาศัยสิทธิตามมาตรา 26 ของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908ที่ให้สิทธิประเทศภาคีที่จะนำอาณานิคมหรือดินแดนที่อยู่ในความครอบครองของประเทศภาคีเข้าเป็นภาคีได้ด้วย ประเทศอังกฤษได้ประกาศนำเอาอาณานิคมรวมทั้งดินแดนทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของตนเข้าเป็นภาคีของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908ยกเว้นอาณานิคมและดินแดนบางส่วนที่ประเทศอังกฤษไม่ประสงค์จะให้เข้าเป็นภาคีซึ่งประเทศอังกฤษก็ได้ประกาศไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่ามีอาณานิคมหรือดินแดนใดบ้าง รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ร.56 (บี) เมืองฮ่องกงไม่ได้เป็นอาณานิคมหรือดินแดนที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าว จึงเป็นอาณานิคมหรือดินแดนที่ประเทศอังกฤษได้นำเข้าเป็นภาคีของกรรมสารกรุงเบอร์ลินค.ศ. 1908 ตั้งแต่ ค.ศ. 1912 เป็นต้นมา และประเทศอังกฤษกับเมืองฮ่องกงก็มีกฎหมายให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีต่าง ๆ ตามอนุสัญญากรุงเบอร์นด้วย เห็นว่าข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศอังกฤษได้นำเอาเมืองฮ่องกงเข้าเป็นภาคีของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 และคดีได้ความด้วยว่าประเทศอังกฤษกับเมืองฮ่องกงมีกฎหมายให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นด้วยเมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมานั้นได้ความจากการนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายดังที่ศาลชั้นต้นเข้าใจเมื่อตอนสั่งรับฎีกาจำเลย ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ว่าประเทศอังกฤษได้นำเมืองฮ่องกงเข้าเป็นภาคีของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 หรือไม่ อันจะเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 หรือไม่ นั้น จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 42 ฎีกาจำเลยที่โต้เถียงว่าเมืองฮ่องกง เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของประเทศจีนไม่เป็นภาคีในกรรมสารกรุงเบอร์ลินค.ศ. 1908 นั้น จึงเป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาแล้วดังกล่าวข้างต้น เมื่อฎีกาจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกแม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยมาโดยเข้าใจว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ฎีกาจำเลยก็ยังเป็นฎีกาที่ต้องห้ามไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่นั่นเอง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share