คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างที่ 2 ที่ 3 และทำละเมิดต่อ โจทก์ในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิด ใน ผลแห่งละเมิดนั้นด้วย จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้าวิ่งรับขนส่งน้ำมันในนามของจำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4ได้ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบ ตามสัญญาขนส่งน้ำมันระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลย ที่ 4 กำหนดให้จำเลยที่ 4เป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างคนขับรถ ดังนี้ ถือได้ว่ากิจการดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ด้วย จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ให้ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2524 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างหรือได้กระทำการในฐานะตัวแทนหรือผู้ทำการแทนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 80-3291 นครปฐม ซึ่งเป็นการกระทำในกิจการของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ขับรถมาตามถนนสายธนบุรี-ปากท่อ มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อถึงตำบลยี่สาร อำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงคราม จำเลยที่ 1 ขับรถโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในที่คับขัน ขณะนั้นโจทก์ที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ก-4203 กรุงเทพมหานครของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 วิ่งสวนไปด้วยความเร็วปกติ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถด้วยความเร็วสูงแซงรถคันอื่นขึ้นมาในระยะกระชั้นชิด รถเสียหลักหมุนเข้าไปชนรถของโจทก์ ในช่องทางเดินรถของโจทก์ที่ 1 แล้วรถทั้งสองคันตกลงไปอยู่ข้างถนนเป็นเหตุให้รถของโจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ทั้งสามได้รับบาดเจ็บถึงอันตรายสาหัส รถของโจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถที่จะทำการซ่อมให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิมขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน1,395,075 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,313,012 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2ให้การว่า โจทก์ที่ 1 เป็นข้าราชการมีสิทธิที่จะเบิกค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ทั้งสามจากทางราชการได้ จึงไม่เสียหายในส่วนนี้ ทรัพย์สินของโจทก์ไม่สูญหาย โจทก์ได้รับคืนหมดแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากความทนทุกข์ทรมาน ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์จริง แต่ขอปฏิเสธข้อความที่ยอมรับว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายจากเหตุแห่งคดีนี้เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ยอมรับค่าเสียหายที่จะเรียกเอาแก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 180,000 บาทตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่โจทก์กลับมาฟ้องในมูลละเมิดซึ่งค่าเสียหายได้ระงับสิ้นไปแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 80-3291 นครปฐม ไปในทางการที่จ้างหรือไปในทางการที่มอบหมายให้กระทำการแทนจากจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน80-3291 นครปฐม ฟ้องโจทก์บรรยายไม่ชัดแจ้งว่าจะให้จำเลยที่ 4ร่วมรับผิดในฐานะใดและโจทก์ไม่แสดงหลักฐานว่าเสียหายอย่างใดบ้างเป็นฟ้องเคลือบคลุมเหตุเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ประมาทแต่ฝ่ายเดียว หรือมีส่วนร่วมประมาทด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 5 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 และไม่ได้กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 5จำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 80-3291 นครปฐม จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยประมาท จำเลยที่ 3 ได้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ท้ายฟ้องแล้ว ถือได้ว่า หนี้ความเสียหายที่เกิดจากละเมิดได้มีการแปลงหนี้ใหม่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกหนี้ฐานละเมิดจากจำเลยที่ 5 อีก ขอให้ยกฟ้องในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นเรียกนางนิ่มนวล บุญศิริ ภรรยาจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 นางนิ่มนวล บุญศิริ ในฐานะผู้แทนที่นายวิทยา บุญศิริ ผู้มรณะ จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 287,512 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2นางนิ่มนวล บุญศิริ ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 401,512 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน80-3291 นครปฐม เพื่อนำมารับจ้างบรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 5โดยจำเลยที่ 5 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับขนส่งน้ำมันตามภาพถ่ายสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.12 จำเลยที่ 4 ได้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับขนส่งน้ำมันตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาเข้ารับขนส่งเอกสารหมาย จ.11 และ เอกสารหมาย ล.9 จำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์คันดังกล่าว ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 80-3291 นครปฐม ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ก-4203 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.15 โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับโดยมีโจทก์ที่ 2 ที่ 3 นั่งโดยสารมาด้วยได้รับอันตรายสาหัส ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเฉพาะเรื่องค่าเสียหายว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ของตนและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการทนทุกข์ทรมานนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องดังกล่าวไว้ เพิ่งหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่าจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2ที่ 3 กระทำไปในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 80-3291 นครปฐม เข้าวิ่งรับขนส่งน้ำมันในนามของจำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบทั้งนี้ตามสัญญาขนส่งน้ำมันระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 4 กำหนดให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างคนขับรถจึงถือได้ว่ากิจการดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ด้วย ปัญหาต่อไป โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ของตนหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่าหลังจากรถยนต์ของโจทก์ถูกชน โจทก์ที่ 1 ไม่มีรถใช้ต้องนั่งรถรับจ้างไปทำงานโดยนั่งจากบ้านที่ซอยอินทามะระ ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ไปทำงานที่กรมตำรวจ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ทุกวัน และต้องนั่งรถรับจ้างไปทำธุระในทางราชการและส่วนตัว เพราะโจทก์ที่ 1 ต้องไปบรรยายที่หลายสถาบันของกรมตำรวจ โจทก์ที่ 1 ติดใจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้วันละ 200 บาท ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันฟ้องคิดเป็น 9 เดือนเป็นเงิน 54,000 บาท ตัวโจทก์ที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ที่ 1เสียค่าเช่ารถในระหว่างที่ไม่มีรถใช้ตั้งแต่เกิดเหตุวันละ 200 บาทเป็นเวลา 9 เดือน เป็นเงินประมาณ 54,000 บาท จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น เห็นว่า ตัวโจทก์ทั้งสองเบิกความรับรองว่าได้จ่ายเงินค่ารถรับจ้างไปจริง ค่าขาดประโยชน์จากการที่ไม่ได้ใช้รถเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์เสียหาย โจทก์ที่ 1ไม่ได้ใช้รถของตนตามปกติเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่รถถูกชนบุบสลายซึ่งจำเลยไม่ได้ชำระราคาค่ารถที่บุบสลายให้แก่โจทก์เลย ที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้มา ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ปัญหาสุดท้ายโจทก์ที่ 2 ที่ 3 มีสิทธิเรียกและมีสิทธิได้รับค่าทนทุกข์ทรมาน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์อำนวย อุณนะนันทน์ พยานโจทก์ผู้รักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ว่า โจทก์ที่ 2 กระดูกหักที่คอข้อสะโพกข้างขวา ที่กระดูกต้นขาขวาหักเป็นหลายเสี่ยงและกระดูกสะบ้าแตกข้างเดียวกัน มีการผ่าตัดใหญ่ 3 ครั้ง จะรักษาให้หายเป็นปกติเหมือนเดิมไม่ได้ ส่วนอาการของโจทก์ที่ 3 กระดูกหักที่ต้นขาข้างซ้ายและมีบาดแผลที่ใบหน้า ส่วนที่หน้าผากและริมฝีปากกระดูกได้ต่อเชื่อมสนิทดีแล้ว แต่อาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกระดูกเมื่อโตเป็นสาวอาจจะขาสั้นหรือยาวผิดปกติทำให้เกิดพิการ จำเลยที่ 4ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น เห็นว่า ค่าทนทุกข์ทรมานเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินโจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้ และเมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เพิ่มสูงขึ้นได้ และศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนทุกข์ทรมานให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จำนวน 180,000 บาท และจำนวน 80,000 บาท ตามลำดับ เหมาะสมแล้ว สรุปแล้วฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share