คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซื้อและขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรียกร้องเงินทดรองที่โจทก์ออกแทนจำเลยไปในการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยหาใช่เป็นเรื่องโจทก์ประกอบการค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่น และเรียกเอาสินจ้างอันพึงจะได้รับในการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7)เพราะโจทก์จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย โจทก์หามีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจของตนเองดำเนินการอย่างใดไม่ ดังนี้เป็นการกระทำในฐานะตัวแทนในกิจการของจำเลยซึ่งเป็นตัวการและเมื่อกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีเช่นนี้ไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปตาม มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
จำเลยให้การต่อสู้หลายประเด็นและต่อสู้ว่า ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายแทนจำเลยไปนั้นเป็นเวลาเกิน 2 ปีแล้วคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อเลยกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 165(7) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ดังนี้ เห็นว่านิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยหาใช่เป็นเรื่องโจทก์ประกอบการค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่นและเรียกเอาสินจ้างอันพึงจะได้รับในการนั้นอันจะเป็นกรณีต้องด้วยมาตรา 165(7) ดังที่จำเลยเข้าใจไม่ เพราะในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่จำเลยทุกครั้ง โจทก์จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย โจทก์หามีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจของตนเองดำเนินการอย่างใดในเรื่องเหล่านี้ไม่ การที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนในกิจการของจำเลยซึ่งเป็นตัวการ และเมื่อกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีเช่นนี้ไว้เป็นพิเศษจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน

Share