คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4047/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินโบนัสปกติมิใช่เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างอันจะนำมาคำนวณเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงานจำเลยเรียกเก็บ จึงเป็นการเรียกเก็บ โดยมิชอบ แต่โจทก์ก็จำต้องชำระเพื่อไม่ให้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม จึงทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้จากเงินที่ได้ชำระให้จำเลย ไปตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่าจำเลย เมื่อจะต้องคืนเงินดังกล่าว จึงต้องเสียดอกเบี้ย นับแต่วันที่รับเงินไว้

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินส่วนที่เกิน875,504.67 บาท จากเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปแล้วสำหรับปี 2527 ให้ชำระ 257,672.43 บาท และสำหรับปี 2529 ให้ชำระ 257,295.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยรับเงินไว้จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เงินโบนัสปกติที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานและลูกจ้างของโจทก์นั้นถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง”ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2523 โจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสหภาพแรงงานโรงงานสุราบางยี่ขันโดยตกลงจ่ายโบนัสปกติเป็น 4 เท่าของรายได้ของพนักงานและลูกจ้างเมื่อสิ้นปีของทุกปีเป็นประจำ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสเดิม ทำให้การจ่ายโบนัสปกติของโจทก์ตามคำสั่งที่ 40/2495 ถูกยกเลิกไป เพราะการจ่ายโบนัสปกติตามคำสั่งดังกล่าวไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผลกำไรและการขาดทุนของโจทก์แต่ตามบันทึกข้อตกลงใหม่นี้ได้กำหนดไว้แน่นอนว่าโจทก์ต้องจ่ายโบนัสปกติ 4 เท่าของรายได้โดยไม่คำนึงถึงผลกำไรหรือขาดทุน ฉะนั้นโบนัสปกติซึ่งโจทก์ต้องจ่ายให้แก่พนักงานและลูกจ้างดังกล่าวมาแล้วจึงถือว่าเป็นค่าจ้างที่จ่ายตอบแทนการทำงานที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น ต้องนำมาคำนวณเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนด้วยนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์มิได้กำหนดความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้บทนิยามที่ปรากฏในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ที่กำหนดว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่าเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าจ้างนั้นจะต้องเป็นเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานการที่โจทก์มีคำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 40/2495 เรื่อง ระเบียบว่าด้วยการจ่ายเบี้ยกรรมการและโบนัสของกรรมการและพนักงานโรงงานสุรา กรมโรงงานอุตสาหกรรมตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 8 กับการที่โจทก์มีบันทึกข้อตกลงกับสหภาพแรงงานโรงงานสุราบางยี่ขัน ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2523 ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ซึ่งในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ที่เกี่ยวกับเงินโบนัสประจำปี (เงินโบนัสปกติ) โจทก์จะจ่ายให้พนักงานและคนงานไม่ต่ำกว่า 4 เท่าของรายได้ก็ตาม แต่การที่จะจ่ายโจทก์ก็จะต้องพิจารณาประกอบคำสั่งที่ 40/2495 ที่มีหลักเกณฑ์การงดจ่ายไว้ด้วยดังที่ปรากฏในหมวด 5 ข้อ 15 ที่กำหนดว่า “พนักงานและคนงานที่มีสิทธิจะได้รับโบนัสนั้นต้องทำงานในปีหนึ่ง ๆ นั้น ๆ มาไม่น้อยกว่า 6 เดือน” และข้อ 16ให้งดจ่ายเงินโบนัสในปีนั้น” ส่วนในบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าหากพนักงานหรือคนงานผู้ใดทำงานไม่ถึง 6 เดือนในปีนั้นก็จะจ่ายโบนัสปกติให้ด้วยหรือพนักงานหรือคนงานผู้ใดถูกไล่ออกหรือปลดออกจากงานโดยมีความผิดก็ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินโบนัสปกติอีก เมื่อบันทึกข้อตกลงไม่ปรากฏข้อความดังเช่นว่านี้ จะถือว่าเงินโบนัสปกติเป็นเงินที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้างที่เรียกชื่ออย่างอื่นย่อมไม่ได้ อนึ่งคำว่า โบนัสนั้นตามความหมายทั่วไปหมายถึง รางวัลสำหรับตอบแทนความดีความชอบอันเนื่องจากการทำงานมาด้วยดีเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานนอกเหนือจากค่าจ้างที่จ่ายตามปกติซึ่งนายจ้างจะจ่ายให้เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่นสิ้นปีหรือในโอกาสพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้น เงินโบนัสปกติดังกล่าวมาแล้วข้างต้นจึงมิใช่เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างอันจะนำมาคำนวณเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์อีกว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยของเงินสมทบที่จะต้องจ่ายคืนให้แก่โจทก์เพราะจำเลยเรียกเก็บเงินสมทบตามหลักฐานค่าจ้างของโจทก์และจำเลยไม่ทราบว่าจะต้องจ่ายเงินสมทบคืนจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515กำหนดไว้ในข้อ 9 ว่า “ผู้ใดไม่จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนภายในกำหนดเวลาหรือจ่ายไม่ครบต้องจ่ายเงินเพิ่มคิดเป็นรายเดือนทุกเดือนในอัตราร้อยละห้าของเงินสมทบที่ค้างจ่าย” แม้จะไม่มีกฎหมายในเรื่องนี้กำหนดไว้ว่าหากจะต้องคืนเงินสมทบที่เรียกเกินแล้วจะต้องเสียดอกเบี้ยด้วยก็ตาม แต่การที่จำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากเงินโบนัสปกติที่โจทก์จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเข้ากองทุนเงินทดแทนทั้งที่เงินโบนัสปกติถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงเป็นการเรียกเก็บโดยมิชอบ แต่โจทก์ก็จำต้องชำระเงินสมทบและชำระเงินสมทบเพิ่มให้จำเลยไป เพื่อไม่ให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกร้อยละห้าตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้จากเงินที่ได้ชำระให้จำเลยไปตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีจึงต้องถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินสมทบและชำระเงินสมทบเพิ่ม เมื่อจะต้องคืนเงินดังกล่าวจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับเงินไว้ ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share