คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาก่อสร้างตึกแถวระหว่างโจทก์จำเลยมิได้ระบุแบบแปลนการก่อสร้างไว้แน่นอนในตัวสัญญาแต่ได้กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยทำการก่อสร้างตึกแถว12 ห้อง ภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากเทศบาล และต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่เทศบาลอนุญาต ดังนี้ ต้องถือว่า แบบแปลนที่จำเลยยื่นขออนุญาตต่อเทศบาล และได้รับอนุมัติแล้วคือแบบแปลนตามสัญญาที่จำเลย จะต้องทำการก่อสร้างให้ถูกต้อง การตีความสัญญาจะต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยประกอบกันเมื่อปรากฏว่าข้อความในสัญญาแจ้งชัด และถูกต้องตามทางปฏิบัติอันชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการแล้ว ก็ถือได้ว่า ไม่เข้ากรณีที่มีข้อสงสัยอันจะต้องตีความให้เป็น คุณแก่ฝ่ายจำเลยผู้ที่จะต้องเป็นฝ่ายเสียหาย ในมูลหนี้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยรื้อตึกแถวที่สร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์ออกไป หากไม่รื้อให้โจทก์รื้อเองด้วยเงินค่าใช้จ่ายของจำเลยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 300 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินโจทก์พร้อมทั้งรื้อตึกแถวออกไปและส่งมอบคืนแก่โจทก์โดยเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อแรกเกี่ยวกับการตีความในสัญญาว่า แบบแปลนการก่อสร้างตึกแถวตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยนั้นมิได้มีระบุไว้แน่นอนในตัวสัญญา ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองแปลความหมายของสัญญาก่อสร้างว่า แบบแปลนที่จำเลยยื่นขออนุญาตต่อกรุงเทพมหานครและได้รับอนุมัติแล้วนั่นเองคือแบบแปลนตามสัญญาที่จำเลยจะต้องทำการก่อสร้างให้ถูกต้อง ซึ่งจำเลยเห็นว่าการตีความเช่นนี้เป็นเรื่องนอกเหนือไปจากข้อความที่ระบุไว้ในเอกสารทั้งยังขัดต่อเจตนาระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความตามสัญญาในข้อ 2 ของเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นปัญหาตามที่จำเลยฎีกาดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ก่อสร้างคือจำเลยทำการก่อสร้างตึกแถวจำนวน 12 ห้อง ภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากเทศบาล (คือ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) และต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่เทศบาลอนุญาตจากเงื่อนไขข้อนี้จะเห็นได้ว่าเจตนาของคู่กรณีประสงค์ให้การกำหนดแบบแปลนก่อสร้างอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการจึงมิได้กำหนดรูปแบบก่อสร้างตลอดจนรายละเอียดไว้ในสัญญาทั้งนี้เป็นเพราะนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเห็นได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนกัน กล่าวคือ จำเลยเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวลงบนที่ดินของโจทก์แล้วเรียกเก็บเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้มาเช่าแต่ละรายในภายหลังเพื่อเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในการที่จำเลยลงทุนไปพร้อมทั้งได้รับผลกำไรในทำนองเดียวกัน เมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไปครบกำหนด 25 ปีตึกแถวนี้ก็ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และในช่วงระยะเวลา25 ปีนี้โจทก์ก็ยังได้สิทธิเก็บผลประโยชน์จากค่าเช่าเป็นของตนฉะนั้นการกำหนดแบบแปลนและรายละเอียดต่าง ๆ ของอาคารที่สร้างจึงให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่จะตกลงใจได้เองว่าจะดำเนินการในรูปแบบอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมและคุ้มค่ากับการที่จำเลยจะลงทุนไป ดังนั้น คู่กรณีจึงเพียงแต่กำหนดเงื่อนไขแต่เพียงกว้าง ๆ ไว้ในสัญญาว่าจะต้องเป็นตึกแถว2 ชั้นจำนวน 12 ห้องเท่านั้น และการก่อสร้างก็จะต้องลงมือกระทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 2 ปีนับจากวันที่เทศบาลอนุญาตซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่าแบบแปลนที่เทศบาลจะอนุญาตก็คือแบบแปลนที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการนั่นเองและถือเป็นแบบแปลนที่จำเลยมีความผูกพันจะต้องปลูกสร้างให้ถูกต้องในรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่ทางราชการได้อนุญาตให้มา ฉะนั้น เมื่อเกิดการผิดพลาดขึ้นเนื่องจากจำเลยไม่ทำการก่อสร้างให้ถูกต้องตามรายละเอียดในแบบแปลนจนถูกทางการดำเนินคดี ทั้งจำเลยเองก็ให้การรับสารภาพผิดและถูกลงโทษปรับไปแล้วเช่นนี้จำเลยกลับจะมาโต้แย้งในภายหลังว่าสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยมิได้มีแบบแปลนกำหนดไว้แน่นอนยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาจึงฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยฎีกาว่าควรตีความสัญญาในกรณีนี้ไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ที่จะต้องเป็นฝ่ายเสียหายในมูลหนี้นั้น ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 ได้บัญญัติในเรื่องการตีความสัญญาว่า ให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยประกอบกันซึ่งปัญหาข้อนี้ศาลล่างทั้งสองได้แปลเจตนาของคู่กรณีตามนัยข้อความที่ปรากฏในสัญญาโดยแจ้งชัดและถูกต้องตามทางปฏิบัติอันชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการแล้ว จึงหาใช่เป็นกรณีที่มีข้อสงสัย จึงควรตีความให้เป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกันสำหรับปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยโต้เถียงว่าการสร้างผิดแบบแปลนบางรายการได้กระทำไปตามคำสั่งของโจทก์เองนั้น ปรากฏว่าจำเลยมิได้ตั้งเป็นประเด็นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เพิ่งจะหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่ามิได้ผิดสัญญาในการนำผู้เช่าเข้าอยู่อาศัยในตึกพิพาทโดยจำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ด้วยวาจาก่อนแล้วนั้นเห็นว่าเป็นการโต้เถียงที่ฝืนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏเพราะตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 ได้ระบุไว้ชัดว่าก่อนที่ผู้เช่าจะเข้าอยู่อาศัยในตึกพิพาทนั้นจำเลยจะต้องนำผู้เช่ามาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก่อนเมื่อปรากฏว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์จึงได้มีหนังสือเตือนให้จำเลยทราบเพื่อยืนยันการปฏิบัติตามสัญญาปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหายจำเลยมิได้อุทธรณ์จึงเป็นประเด็นที่ยุติไปแล้วในศาลชั้นต้น ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่เสนอเงินค่าตอบแทนในผลงานที่จำเลยได้กระทำไปจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปรากฏว่าจำเลยมิได้ตั้งเป็นประเด็นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
สรุปแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาทแทนโจทก์

Share