แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยถูกพนักงานอัยการฟ้องตามที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวร้องทุกข์ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและฉ้อโกง กับขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ยกฟ้องเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 1 ในคดีนี้เป็นผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวตามลำดับ ทั้งความรับผิดทางแพ่งคดีนี้ เกิดจากการ กระทำความผิดอาญาดังกล่าว จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้อง ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นหลักในการพิพากษาคดี ส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 โดยต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 นั้น ไม่ได้เป็นคู่ความ ในคดีอาญาดังกล่าว ศาลจะรับฟังข้อวินิจฉัยส่วนอาญาดังกล่าวมาเป็นข้อเท็จจริงอันคดีแพ่ง ต้องถือตามหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อปี 2527 โจทก์ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลให้ดำเนินการก่อสร้างทางหมายเลข 3206 สายอำเภอปากท่อ-บ้านห้วยยางโทน-บ้านท่ายาง-อำเภอท่ายาง จังหวัดราชบุรี ระยะทาง 35.350 กิโลเมตร โจทก์แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นนายช่างโครงการมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมการก่อสร้างการจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวันตำแหน่งคนงาน อัตราค่าจ้างไม่เกินวันละ 54.55 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ช่วยและควบคุมคนงาน ระหว่างเดือนกันยายน 2527 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2529 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันตำแหน่งคนงานที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้างปลอมลายมือชื่อนายคำ คิดชอบ นายบรรเจิด ชดช้อย นายถวัลย์ ลี้ส้มซ่า นายเฮียม โสมศรีแก้ว จำเลยที่ 5 และนางนารี ลิขิตเจริญธรรม เป็นผู้ขอสมัครเข้าทำงานในหน้าที่คนงานชั่วคราวและร่วมกันทำหลักฐานเท็จว่าบุคคลเหล่านั้น ปฏิบัติงานในโครงการ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าอาหารทำการนอกเวลา และเงินช่วยค่าครองชีพแก่บุคคลเหล่านั้น รวมเป็นเงิน 184,576.50 บาท อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย โจทก์รู้ตัวผู้ทำละเมิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2533 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้เงิน 184,576.50 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิด 173,055.66 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด 9,262.50 บาท จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิด 2,258.34 บาทและจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิด 10,419.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากเงินต้นที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวและปฏิบัติงานกันจริง คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มิได้เป็นลูกจ้างชั่วคราวและไม่ได้ร่วมกับจำเลยอื่นกระทำละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยถูกพนักงานอัยการฟ้องตามที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวร้องทุกข์ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและฉ้อโกง กับขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 184,588.87 บาทแก่โจทก์ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3197/2537 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรี โจทก์ นายบรรจง หนูบรรจง ที่ 1 นายสมปอง เตชะปณิต ที่ 2 จำเลย เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 1 ในคดีนี้เป็นผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวตามลำดับทั้งความรับผิดทางแพ่งคดีนี้เกิดจากการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นหลักในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 โดยต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ศาลจะรับฟังข้อวินิจฉัยส่วนอาญาดังกล่าวมาเป็นข้อเท็จจริงอันคดีแพ่งต้องถือตามหาได้ไม่ จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่คู่ความได้นำสืบมาแล้ว ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยมา และปรากฏว่าค่าเสียหายที่โจทก์ขอบังคับให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รับผิดแต่ละคนนั้นไม่เกิน 50,000 บาท จึงเห็นควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อไป
พิพากษายืนสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่