แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ค่าเบี้ยกิโลเมตรที่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถทุกวันตามระยะทางที่ขับรถได้ เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันที่ทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่พนักงานทำงานได้เป็น “เงินเดือนค่าจ้าง” ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานฯ ข้อ 3 ต้องนำไปรวมคำนวณค่าชดเชยที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามข้อ 45 แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯฉบับดังกล่าวด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถอัตราค่าจ้างคือเงินเดือน เดือนละ 2,800 บาท ค่าเบี้ยกิโลเมตรวันละ 213 บาท ค่าช่วยเหลือบุตรเดือนละ 150 บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 9,340 บาท พร้อมสวัสดิการตามเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 121,420 บาทกับให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างเดือนละ 9,340 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม หากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 56,040 บาทค่าเสียหายจำนวน 56,040 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน2,052 บาท คืนเงินสะสมจำนวน 14,200 บาท และคืนเงินประกันความเสียหายจำนวน 5,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากแพทย์ของจำเลยได้ตรวจและรายงานว่าโจทก์เป็นโรคความดันโลหิตสูงและหัวใจโต จำเลยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหาย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 55,140 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1,839 บาท กับให้คืนเงินสะสมจำนวน 14,200 บาท และเงินประกันความเสียหายจำนวน 5,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์เพียงประการเดียวว่าค่าเบี้ยกิโลเมตรที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์นั้น จำเลยจะจ่ายให้โจทก์ต่อเมื่อโจทก์ได้ขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถเท่านั้น โดยจ่ายเป็นรายวันทุกวันที่โจทก์มาปฏิบัติหน้าที่จริง ค่าเบี้ยกิโลเมตรในแต่ละวันไม่เท่ากัน จึงมิใช่เงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานในลักษณะแน่นอนและจำนวนตายตัว มิใช่ค่าจ้างตามกฎหมายโจทก์จึงได้ค่าจ้างเพียงเดือนละ 2,800 บาท เท่านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ค่าเบี้ยกิโลเมตรนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกวันตามระยะทางที่ขับรถได้ในอัตรากิโลเมตรละ35 สตางค์ โจทก์ขับรถวันละ 609 กิโลเมตร ได้รับค่าเบี้ยกิโลเมตรวันละ 213 บาท ดังนั้น ค่าเบี้ยกิโลเมตรตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันที่ทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่พนักงานทำงานได้ ค่าเบี้ยกิโลเมตรจึงเป็น “เงินเดือนค่าจ้าง” ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 3 ซึ่งจะต้องนำไปรวมคำนวณค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามข้อ 45 แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฉบับดังกล่าวด้วย ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน