คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 180,000 บาท จำเลยอ้างว่าได้ชำระเงินแล้ว 80,000 บาท จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ เช็คพิพาทลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 4 มกราคม 2530 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังเมื่อวันที่ 6มีนาคม 2530 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 1 ปี แล้ว จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อค้ำประกันจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ในการสลักหลังเช็คพิพาทเป็นประกันจำเลยที่ 1 กู้เงินบริษัทธ.เท่านั้น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาถนนมิตรภาพ ลงวันที่ 4 มกราคม 2530 จำนวน 180,000บาท มีจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลัง แล้วมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินยืม เมื่อวันที่ 13มกราคม 2530 โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บ ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสี่แล้วแต่ก็มีการขอผัดผ่อนขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินตามเช็คจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไป
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2528 เพื่อประกันหนี้เงินกู้โดยไม่ได้ลงวันที่ในเช็คจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระจนเหลือหนี้ตามเช็คพิพาทเพียง 100,000 บาทโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพราะเช็คพิพาทขาดอายุความเนื่องจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันว่า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินตามเช็คให้เสร็จภายในปี 2528 การที่โจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่ 4 มกราคม 2530 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่รู้เห็นจึงเป็นการลงวันที่ในเช็คไม่ถูกต้องตามข้อตกลง จำเลยที่ 3 และที่ 4ไม่ได้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2530 เป็นต้นไป ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินตามเช็คแล้ว 80,000 บาท คงค้างชำระเพียง100,000 บาท หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การชำระหนี้จำนวน80,000 บาท ให้โจทก์นั้น จะให้โจทก์ออกใบรับเงินให้แก่จำเลยเป็นเรื่องยาก การที่หนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย ล.1 ระบุจำนวนเงิน100,000 บาท แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้เพียง 100,000 บาทนั้น เห็นว่าในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความนั้นขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เฉพาะอย่างยิ่งเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 180,000 บาท จำเลยอ้างว่าได้ชำระเงินแล้ว80,000 บาท จำเลยจึงมีภาระในการพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 คงนำสืบลอย ๆ หาได้มีเอกสารหลักฐานใด อาทิเช่น ใบรับเงินหรืออย่างน้อยก็บันทึกข้อความให้ปรากฏในเช็คพิพาทนั้น หรือออกเช็คฉบับใหม่แทนเช็คฉบับเดิมในส่วนที่ยังค้างชำระมาสืบสนับสนุนคำของจำเลยที่ 1 แต่ก็หามีไม่พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง สำหรับหนังสือทวงถามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งระบุจำนวนเงินตามเช็คพิพาท100,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย ล.1ไม่มีข้อความว่าจำนวนเงิน 100,000 บาท นั้น เป็นยอดที่ค้างชำระแต่ระบุว่าเช็คพิพาทจำนวนเงิน 100,000 บาท น่าจะเป็นการพิมพ์ตัวเลขจำนวนเงินเช็คพิพาทผิดพลาดไปดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัย เพราะหากเป็นกรณีที่ค้างชำระเงินบางส่วน หนังสือทวงถามจะต้องกล่าวถึงรายการชำระเงินและยอดที่ค้างชำระ หาใช่ระบุว่าเช็คพิพาทจำนวนเงิน 100,000 บาท ไม่ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบไม่สามารถรับฟังได้ว่า มีการชำระเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์แล้วบางส่วน
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาต่อมาว่า เช็คพิพาทขาดอายุความ เพราะผู้ทรงมิได้ฟ้องผู้สลักหลัง และผู้สั่งจ่ายภายใน1 ปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินให้โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 (ภริยาจำเลยที่ 1) และที่ 3 เป็นผู้สลักหลังและเช็คพิพาทลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 4 มกราคม 2530 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2530 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความแล้ว
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 3มีวัตถุประสงค์ในการสลักหลังเป็นประกันจำเลยที่ 1 กู้เงินบริษัทธนมิตร จำกัด เท่านั้น จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share