แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน105,000 บาท ก็ไม่ควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมร่วมกับจำเลยดังกล่าวเกินกว่าทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 แพ้คดี และศาลฎีกามีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงของศาลชั้นต้นด้วย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 สำนวนแรก กับจำเลยที่ 4 สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 สำนวนแรกและโจทก์สำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2และเป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-2469 ชลบุรีของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แล่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้ามาในช่องเดินรถของรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ก-4222 สมุทรปราการซึ่งนางนิรมลผู้ตายเป็นคนขับแล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถบรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับชนรถยนต์เก๋งทำให้รถยนต์เก๋งเสียหายและนางนิรมลกับนายประเทืองสามีถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุทันที ส่วนโจทก์ที่ 3 ซึ่งมาในรถยนต์เก๋งได้รับอันตรายสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสาม เป็นเงิน 1,483,200 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2527จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เหตุคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3มีความรับผิดต่อผู้บาดเจ็บหรือมรณะตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยต่อบุคคลภายนอกในวงเงิน 25,000 บาท ต่อ 1 คน ฉะนั้นหากจำเลยที่ 3 จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามแล้ว จำเลยที่ 3ก็มีความรับผิดชอบไม่เกิน 25,000 บาท ต่อ 1 คน และไม่เกิน 250,000บาท ต่อ 1 ครั้ง ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-2469 ชลบุรี ไว้จากนายซ่งเฮง แซ่เอ็งในประเภทรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสิ้นเชิงในวงเงิน 200,000บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาผู้รับมรดกของนางนิรมลทัพเวช จำเลยที่ 3 เป็นบุตรผู้เยาว์ของนางนิรมล จำเลยที่ 4เป็นผู้จัดการมรดกของนางนิรมล และเป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 3นางนิรมลได้ขับรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ก-4222 สมุทรปราการเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งวิ่งจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ชนกับรถยนต์เก๋งของนางนิรมล เป็นเหตุให้นางนิรมลถึงแก่ความตาย และรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ในฐานะทายาทผู้รับมรดกและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิรมลขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินแก่โจทก์ 28,012.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 27,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเงินเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การใจความทำนองเดียวกับฟ้องโจทก์สำนวนแรกว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของคนขับรถบรรทุกสิบล้อคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ หากฟังว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริง ค่าเสียหายไม่เกิน5,000 บาท โจทก์ฟ้องในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยได้เฉพาะค่าเสียหายที่แท้จริงเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จำนวน 733,200 บาท โดยให้จำเลยที่ 3รับผิดไม่เกิน 105,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ ยกฟ้องโจทก์คดีสำนวนหลังค่าฤชาธรรมเนียมในคดีดังกล่าวให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์เพียง 1 ใน 7 ส่วน ศาลชั้นต้นชอบที่จะแยกความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยที่ 3 ออกต่างหากโดยกำหนดให้รับผิดเพียง 1 ใน 7 ส่วนเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน 105,000 บาทก็ไม่ควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมร่วมกับจำเลยดังกล่าวเกินกว่าทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 แพ้คดี ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงของศาลชั้นต้นด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ในศาลชั้นต้นเท่าที่โจทก์ชนะคดีในส่วนของจำเลยที่ 3
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยที่ 3 รับผิดใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 โดยคิดทุนทรัพย์ 105,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เป็นเงิน2,500 บาท และให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 3 ในสำนวนคดีหลัง คืนค่าขึ้นศาลในสำนวนคดีหลังทั้งหมดแก่จำเลยที่ 3 ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับ