แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยนำรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 7 คนมาประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5(2) ยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23 วรรคหนึ่งและมาตรา 126 แต่ที่จำเลยนำรถยนต์ดังกล่าวรับส่งคนโดยสารระหว่างตลาดนาโยงกับอำเภอเมืองตรัง ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของเส้นทางเดินรถประจำทางของผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางสายตรัง-เขาช่อง โดยเก็บค่าโดยสารคนละ 5 บาท จึงเป็นกรณีที่ใช้รถยนต์อื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทางรับจ้างคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางในทางที่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 22 วรรคหนึ่งหาจำต้องเป็นการรับส่งเฉพาะคนโดยสารตามรายทางระหว่างที่จำเลยขับรถส่งคนโดยสารไม่ เพราะการรับส่งคนโดยสารของจำเลยอยู่ในเขตรายทางเส้นทางเดินรถของผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบการขนส่งโดยสารประจำทาง โดยใช้รถยนต์เก๋งซึ่งมิใช่รถยนต์โดยสารประจำทางมารับจ้างรับคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางในเส้นทางระหว่างตรัง-เขาช่อง ถนนเพชรเกษม ที่คณะกรรมการกำหนดให้มีรถยนต์โดยสารประจำทางอื่นอยู่แล้ว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนทั้งนี้มิใช่เป็นการรับจ้างรับส่งนักเรียน คนงาน นักท่องเที่ยวเป็นครั้งคราว เหตุเกิดที่ตำบลนาโยงเหนือ กิ่งอำเภอนาโยง และตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 17,23, 126 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 22, 60พระราชบัญญัติ รถยนต์ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2527 มาตรา 7
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 126พระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง, 60 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 126 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาทข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือนและปรับ 15,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าตามวันและเวลาเกิดเหตุ จำเลยได้ใช้รถเก๋งคันหมายเลขทะเบียนภูเก็ต ร-0010 ขับรับจ้างรับส่งคนโดยสารระหว่างตลาดนาโยงกับอำเภอเมืองตรัง โดยทับเส้นทางเดินรถของสหกรณ์รถยนต์โดยสารตรังจำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางสายตรัง-เขาช่อง ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยกระทำความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากนายบำเพ็ญ โรจพกฤตยากรณ์นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกและพระราชบัญญัติรถยนต์ประจำจังหวัดตรังว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร-0010 ภูเก็ตเป็นรถประเภทสาธารณะสามารถนำมารับจ้างในจังหวัดตรังได้ และเป็นรถที่นั่งได้ไม่เกิน 7 คน ซึ่งรถดังกล่าวพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 5(2) ยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ ดังนั้นการที่จำเลยนำรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน7 คน มาประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 126สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยรับส่งคนโดยสารระหว่างตลาดนาโยงกับอำเภอเมืองตรังโดยเก็บค่าโดยสารคนละ 5 บาท ทับเส้นทางเดินรถของสหกรณ์รถยนต์โดยสารตรัง จำกัด ดังนั้นเส้นทางที่จำเลยรับส่งคนโดยสารจึงเป็นช่วงหนึ่งของเส้นทางเดินรถประจำทางของผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางสายตรัง-เขาช่อง นั่นเอง จึงเป็นกรณีที่ใช้รถยนต์อื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทางรับจ้างคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางในทางที่ได้รับอนุญาตให้มีรถยนต์โดยสารประจำทาง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ที่โจทก์ฟ้องหาจำต้องเป็นการรับส่งเฉพาะคนโดยสารตามรายทางระหว่างที่จำเลยขับรถส่งคนโดยสารไม่ เพราะการรับส่งคนโดยสารของจำเลยอยู่ในเขตรายทางเส้นทางเดินรถของผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง, 60 ลงโทษปรับ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3