แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้นย่อมหมายความถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุหรือแม้จะมีสาเหตุบ้างแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องถึงกับเลิกจ้างลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามก็เนื่องจากบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามกับพวกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ของบริษัทไป อีกทั้งในชั้นจับกุม โจทก์ทั้งสามก็ให้การรับสารภาพ พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยมีความระแวงสงสัยและไม่ไว้วางใจโจทก์ทั้งสาม จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้ และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเป็นธรรม แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็หามีผลทำให้การเลิกจ้างของจำเลยกลับเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้เพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในข้อที่ว่า “ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท””จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย”และ “ลูกจ้างต้องไม่ลักทรัพย์หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นลักทรัพย์ของบริษัท หรือของผู้อื่นภายในบริเวณบริษัท” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีที่โจทก์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์นั้น พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว กรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสามทันทีเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อไม่จ่ายก็ต้องถือว่าผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปีของเงินดังกล่าว จำนวนนับแต่วันเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2535จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย และไม่ออกหนังสือรับรองการทำงาน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินสมทบ เงินสะสมและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 214,842 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน111,972 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 170,867 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะโจทก์ทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้าง และถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2535 การกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายรวมทั้งเงินสมทบเงินสะสมตามระเบียบเงินสะสมของจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 43,344 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 36,366 บาท โจทก์ที่ 3เป็นเงิน 41,100 บาท จ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน101,136 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 48,488 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน75,350 บาท จ่ายเงินสมทบเงินสะสมตามระเบียบเงินสะสมของจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 39,267 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 8,616บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 28,582 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 6 พฤษภาคม 2535)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้นย่อมหมายความถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุหรือแม้จะมีสาเหตุบ้างแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจะต้องถึงกับเลิกจ้างลูกจ้าง สำหรับคดีนี้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามก็เนื่องจากบริษัทฮิตาชิคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามกับพวกในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ของบริษัทไป อีกทั้งในชั้นจับกุมโจทก์ทั้งสามก็ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ล.4พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยมีความระแวงสงสัยและไม่ไว้วางใจโจทก์ทั้งสาม จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้ และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเป็นธรรม แม้ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการจะสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลจังหวัดสมุทรปราการจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็หามีผลทำให้การเลิกจ้างของจำเลยกลับเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ เมื่อฟังได้ว่าการเลิกจ้างของจำเลยมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปจึงมีว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชย เงินสมทบเงินสะสมพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด ในปัญหาข้อนี้จำเลยขอต่อสู้เพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในหมวดที่ 4 บทที่ 6 ข้อ 4.1 ที่ว่า “ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท” ข้อ 4.2 ที่ว่า”จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย” และในหมวดที่ 5 บทที่ 1 ข้อ4.13 ที่ว่า “ลูกจ้างต้องไม่ลักทรัพย์หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นลักทรัพย์ของบริษัท หรือของผู้อื่นภายในบริเวณบริษัท” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีที่โจทก์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์นั้น พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ที่ 1 และศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่2 และที่ 3 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว กรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยรวมทั้งเงินสมทบเงินสะสมให้แก่โจทก์ทั้งสามทันทีเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เมื่อไม่จ่ายก็ต้องถือว่าผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปีของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 43,344 บาทโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 36,366 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 41,100 บาทจ่ายเงินสมทบเงินสะสมตามระเบียบเงินสะสมของจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 39,267 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 8,616 บาท โจทก์ที่ 3เป็นเงิน 28,582 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 6 พฤษภาคม 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง