คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3520/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลยแล้วย้ายออกจากบ้านจำเลยที่เคยอยู่กินร่วมกันมาแต่แรกเป็นเวลาถึง 8 ปีเศษ เป็นการที่โจทก์ละทิ้งร้างจำเลยไปเอง หากโจทก์ประสงค์จะคืนดีกับจำเลยก็ชอบที่จะกลับไปอยู่กับจำเลยที่บ้านจำเลย แต่โจทก์กลับตั้งเงื่อนไขให้จำเลยย้ายไปอยู่กับโจทก์ที่บ้านโจทก์ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อน ย่อมเป็นการไม่ชอบ โจทก์จึงอาศัยเหตุที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์มาเป็นเหตุฟ้องหย่า โดยอ้างว่าจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยามิได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับจำเลยตั้งแต่ปี 2520 มีสินสมรส คือ รถยนต์ยี่ห้อฮีโน่ ราคาประมาณ200,000 บาท ในปี 2529 โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยเนื่องจากจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันและหมิ่นประมาทโจทก์ศาลพิพากษายกฟ้อง หลังจากนั้นโจทก์ไปขออยู่กินกับจำเลย จำเลยไม่ยอมและไม่พูดจากับโจทก์ ไม่ให้โจทก์ร่วมหลับนอนด้วย อันเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภรรยากัน ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันและแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า เมื่อกลางปี 2528 โจทก์ไปติดพันหญิงอื่นและใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย บางครั้งด่าว่าและกลั่นแกล้งจำเลยเมื่อโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยในปี 2529 และศาลพิพากษายกฟ้องแล้วโจทก์ก็ยังไปเกี่ยวข้องกับหญิงอื่น จำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาและยังประสงค์ให้โจทก์กลับไปอยู่กินกับจำเลย รถยนต์ที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสนั้นความจริงเป็นสินเดิมของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นฝ่ายหาเรื่องเพื่อขับไล่โจทก์ออกไปจากบ้านเลขที่ 153 ซึ่งเป็นบ้านของจำเลย ไม่ใช่โจทก์เป็นฝ่ายหนีไปจากบ้านเลขที่ดังกล่าวเองนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์เองว่า หลังจากโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยในปี2529 แล้ว โจทก์เป็นฝ่ายย้ายไปอยู่บ้านเลขที่ 46 เอง ที่โจทก์ฎีกาว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีแรกแล้ว โจทก์ไปขอคืนดีกับจำเลยแต่จำเลยไม่ยอม เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันนั้น โจทก์มีตัวโจทก์นายสวัสดิ์ เวชสวัสดิ์และนายเชาวนะ หอมทรัพย์ เป็นพยาน โดยโจทก์เบิกความว่าได้ไปขอคืนดีกับจำเลยหลายครั้งแต่จำเลยไม่ยอม ส่วนนายสวัสดิ์ และนายเชาวนะ อ้างว่าได้ไปที่บ้านจำเลยเพื่อไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกันแต่จำเลยเบิกความว่าไม่เคยมีผู้ใดไปเจรจาขอให้โจทก์และจำเลยกลับไปอยู่กินกันเช่นเดิมเลย ในข้อนี้ เห็นว่า โจทก์อ้างว่าไปขอคืนดีกับจำเลยหลายครั้ง คงมีแต่ตัวโจทก์เบิกความลอย ๆไม่มีพยานบุคคลอื่น ๆ มาสนับสนุน สำหรับนายสวัสดิ์ก็เบิกความว่าได้ข่าวว่าโจทก์ถูกรถชนจึงมาเยี่ยมแล้วถูกโจทก์ขอร้องให้ไปพูดขอคืนดีกับจำเลย พยานจึงได้ไปโดยไม่ได้ตั้งใจมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และเมื่อไปครั้งแรกก็ไม่มีการเจรจาใด ๆ กับจำเลยแต่กลับไปหลบอยู่ใต้ถุนบ้าน และวันรุ่งขึ้นจึงได้พูดคุยกับจำเลยสองต่อสองและคุยกันเพียง 2 นาที ก็กลับ โดยโจทก์ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องที่ถูกรถชนเลย คำเบิกความของโจทก์และนายสวัสดิ์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนนายเชาวนะก็ไม่ได้พบปะพูดจาใด ๆกับจำเลย จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่เคยขอคืนดีกับจำเลย ทำให้คำเบิกความของจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งขึ้น การที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีแรกในปี 2529 แล้วย้ายออกจากบ้านของจำเลยที่เคยอยู่กินร่วมกันมาแต่แรกเป็นเวลาถึง8 ปีเศษ จึงเป็นการที่โจทก์ละทิ้งร้างจำเลยไปเอง หากโจทก์ประสงค์จะคืนดีกับจำเลยก็ชอบที่โจทก์จะกลับไปอยู่กับจำเลยที่บ้านเลขที่ 153 ซึ่งเคยร่วมอยู่กินกันมาแต่เดิม แต่โจทก์กลับตั้งเงื่อนไขให้จำเลยย้ายไปอยู่กับโจทก์ที่บ้านเลขที่ 46 ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลยไป โจทก์จะอาศัยเหตุที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์มาเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share