คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายแก้ไขวันที่ลงในเช็คใหม่อันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญนั้น มีผลให้เช็คเป็นอันเสียไปแต่ยังคงใช้ได้ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่โจทก์จะอ้างเอาผลของการที่เช็คถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ลงในเช็คโดยจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลมิได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นมาเป็นวันเริ่มนับอายุความ เป็นเหตุให้คดีของโจทก์ในการฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ขาดอายุความนั้นหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาลำปาง จำนวน 7 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 5,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้อาวัลผู้สั่งจ่าย เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 35,194 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโจทก์นำคดีมาฟ้องนับแต่วันที่ลงในเช็คถึงวันฟ้องเกินกำหนด 1 ปีฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ หลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งเจ็ดฉบับ จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วยการมอบเช็คที่นายวิจิตร ทองบัวสุวรรณ เป็นผู้สั่งจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาทให้แก่โจทก์และโจทก์ตกลงรับเอาตู้ใส่ของของจำเลยที่ 2 ตีใช้หนี้อีกเป็นเงิน 5,000 บาท โจทก์สัญญาว่าจะคืนเช็คทั้งเจ็ดฉบับให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ไม่คืนให้ เช็คตามฟ้องจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน35,194 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน35,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกแก้เป็นว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2ให้ยกนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ขณะจำเลยที่ 2 อาวัลเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับ เช็คพิพาทฉบับแรกลงวันสั่งจ่ายวันที่ 5 กันยายน 2527เช็คพิพาทฉบับสุดท้ายลงวันที่ 5 มีนาคม 2528 ดังนั้นโจทก์ผู้ทรงเช็คย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายเมื่อพ้นเวลา 1 ปีนับแต่วันเช็คถึงกำหนดหรือวันที่ลงในเช็ค จำเลยที่ 2 ผู้อาวัลย่อมมีความผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน การฟ้องผู้อาวัลผู้สั่งจ่ายจึงใช้อายุความ 1 ปี เช่นเดียวกับฟ้องผู้สั่งจ่าย โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยที่ 2 ผู้อาวัลจำเลยที่ 1ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ลงในเช็คพิพาทแต่ละฉบับเช็คพิพาทฉบับสุดท้ายลงวันที่ 5 มีนาคม 2528 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2วันที่ 21 กรกฎาคม 2530 จึงพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่เช็คพิพาททั้งหมดถึงกำหนดใช้เงินแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ การที่จำเลยที่ 1 แก้ไขวันที่ลงในเช็คพิพาทใหม่อันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญนั้นมีผลให้เช็คพิพาทเป็นอันเสียไป แต่ยังคงใช้ได้ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เมื่อนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลงไว้ในเช็คพิพาทถึงวันฟ้อง ยังไม่พ้นเวลา 1 ปีคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ แต่โจทก์จะอ้างเอาผลของการที่เช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ลงในเช็คโดยจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นมาเป็นวันเริ่มนับอายุความเป็นเหตุให้คดีของโจทก์ในการฟ้องจำเลยที่ 2ไม่ขาดอายุความนั้นหาได้ไม่ เพราะมีผลเท่ากับให้โจทก์ยังคงใช้เช็คพิพาทอ้างสิทธิต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นได้ต่อไปอีก เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคแรก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่า คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้วศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share